อสังหาฯไทย ยอดดูดซับต่ำกว่าช่วงโควิด สต๊อก “บ้าน-คอนโด” ส่อล้น 2.4 แสนยูนิต เปิด Top5 ทำเลอันตราย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อสังหาฯไทย ยอดดูดซับต่ำกว่าช่วงโควิด สต๊อก “บ้าน-คอนโด” ส่อล้น 2.4 แสนยูนิต เปิด Top5 ทำเลอันตราย

Date Time: 20 มิ.ย. 2567 12:14 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • REIC อัปเดต ตลาดอสังหาฯไทย เผย ไตรมาสแรก ทั้งดีมานด์-ซัพพลาย ลดลงน่าห่วง ขณะ ยอดดูดซับต่อโครงการ วิกฤติกว่าช่วงโควิดระบาด คาดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และปัจจัยลบ ฉุดยอดขายบ้าน-คอนโดฯใหม่ ทั้งปี 2567 ลดลง -8.4% ดันสต๊อกเหลือขาย พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล พุ่ง 2.4 แสนยูนิต มูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท เปิด TOP 5 ทำเลอันตราย หยุดเติมโครงการใหม่

Latest


ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) รายงานสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยไทย ล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 ปรากฏความน่าเป็นห่วง หลายแง่ จนอาจเป็นเครื่องบ่งชี้ “เศรษฐกิจไทย” ในยามนี้ได้อย่างดี 

  • ยอดขายในภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยลดลง -26.6%
  • อาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ขายได้ลดลง -39% และบ้านจัดสรรลดลง -16.1% 
  • หน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายรวมในตลาดเพิ่ม 16.4%
  • คาดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และปัจจัยลบอสังหาฯ ฉุดยอดขายใหม่ทั้งปี 2567 ลดลง -8.4%
  • ปัญหาหนี้ครัวเรือนกดดันสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ทั้งปี 2567 ให้ลดลง -0.03% และหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์โตได้เพียง 1.6% 

REIC คาดสต๊อก บ้าน-คอนโดฯ เหลือขายพุ่ง 1.3 ล้านล้านบาท 

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ REIC ให้มุมมองว่า ขณะนี้ ตลาดอสังหาฯไทย (พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล) ควรเฝ้าระวังสต๊อกคงเหลือ และอัตราการดูดซับที่ต่ำลงในหลายๆ ทำเล ซึ่งต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะทำเลที่มีอัตราการดูดซับลดลง 

ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2566 รวมจำนวนสต๊อกคงค้าง 213,429 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,217,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5% 

  • บ้านจัดสรร เหลือขาย เพิ่มขึ้น 12.8% 
  • คอนโดมิเนียม เหลือขาย เพิ่มขึ้น 22.3% 

สาเหตุสำคัญมาจากอัตราดูดซับต่อโครงการที่ต่ำลงกว่าช่วงโควิด-19 

“ไตรมาสแรก อสังหาฯไทย มีอัตราดูดซับลดลงมาอยู่ที่ 2.3% หรือ ต้องใช้ระยะเวลาในการขายจนหมดถึงประมาณ 40 เดือน ในขณะที่อัตราดูดซับไตรมาส 1 ปี 2566 เคยอยู่ที่ 3.5% หรือต้องใช้ระยะเวลาในการขายจนหมดเพียงประมาณ 25 เดือน จึงอาจกล่าวได้ว่า อัตราดูดซับในไตรมาสนี้อยู่ในระดับต่ำที่ต่ำกว่าช่วงสถานการณ์โควิดที่มีอัตราการดูดซับประมาณ 2.5-2.7% ด้วยซ้ำ” 

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือว่าตลาดจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ จากภาวะเศรษฐกิจซึ่งยังคงมีทิศทางชะลอตัว และปัจจัยลบต่างๆ ส่งผลโดยตรงต่อยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ 

โดย REIC คาดว่า ทั้งปี 2567 ทำเล กทม.-ปริมณฑล จะมีจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขาย เพิ่มขึ้น 17.3% มาอยู่ที่ 246,280 หน่วย มูลค่า 1,393,395 ล้านบาท 

TOP5 ทำเลอันตราย สต๊อกบ้าน-คอนโดฯ เหลือขายเยอะสุด 

สำหรับทำเลเฝ้าระวังจากภาวะขายออกยาก และยังคงมีที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ 

กลุ่มบ้านจัดสรร 

  • อันดับ 1 โซนบางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 20,214 หน่วย มูลค่า 110,177 ล้านบาท 
  • อันดับ 2 โซนลำลูกกา-ธัญบุรี จำนวน 16,109 หน่วย มูลค่า 93,280 ล้านบาท 
  • อันดับ 3 โซนคลองหลวง จำนวน 14,478 หน่วย มูลค่า 56,803 ล้านบาท
  • อันดับ 4 โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง จำนวน 13,183 หน่วย มูลค่า 83,193 ล้านบาท
  • อันดับ 5 โซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก จำนวน 11,244 หน่วย มูลค่า 52,080 ล้านบาท

กลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม 

  • อันดับ 1 โซนห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 10,588 หน่วย มูลค่า 43,059 ล้านบาท
  • อันดับ 2 โซนธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน 9,469 หน่วย มูลค่า 31,397 ล้านบาท
  • อันดับ 3 โซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ จำนวน 8,251 หน่วย มูลค่า 27,299 ล้านบาท
  • อันดับ 4 โซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 6,293 หน่วย มูลค่า 16,121 ล้านบาท
  • อันดับ 5 โซนลาดพร้าว-วังทองหลาง-บางกะปิ จำนวน 5,382 หน่วย มูลค่า 17,607 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 โครงการบ้านจัดสรรในกลุ่มราคาแพงยังคงมีอัตราการขายได้สูงกว่าระดับราคาอื่นๆ. 

ที่มา : REIC 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ