แลกรื้อสัมปทานทางด่วน "สุริยะ" ไฟเขียวชาวบ้านจ่ายไม่เกิน 50 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แลกรื้อสัมปทานทางด่วน "สุริยะ" ไฟเขียวชาวบ้านจ่ายไม่เกิน 50 บาท

Date Time: 20 มิ.ย. 2567 07:35 น.

Summary

  • “สุริยะ” ไฟเขียวลดค่าผ่านทางด่วนให้ประชาชนจ่ายสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสายภายในสิ้นปีนี้ แลกขยายต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนไปอีก 22 ปี-เอกชนรับผิดชอบสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

“สุริยะ” ไฟเขียวลดค่าผ่านทางด่วนให้ประชาชนจ่ายสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสายภายในสิ้นปีนี้ แลกขยายต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนไปอีก 22 ปี-เอกชนรับผิดชอบสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ลั่น! ไม่กระทบรายได้พนักงาน ย้ำที่ทำไปเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ลดปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปเจรจากับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 เรื่องปรับลดอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ทางด่วน) เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า BEM จะปรับลดค่าผ่านทางให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการใช้กับทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก โดยมีเงื่อนไขแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนเป็นเวลา 22 ปี 5 เดือน นับจากสัญญาเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2578 เลื่อนไปสิ้นสุดสัญญาในปี 2601

ขณะเดียวกัน BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษศรีรัช โดยทางด่วนสายนี้จะเป็นทางด่วนทับซ้อนแนวเส้นทางเดิม และไม่ต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ขณะเดียวกันจะมีการลดส่วนแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ.กับ BEM จากปัจจุบัน กทพ. 60 BEM 40 เหลือเป็น 50 ต่อ 50 เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในส่วนของรายได้ที่หายไป ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดนี้ต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานใหม่

“ผมมั่นใจว่าภายในสิ้นปีนี้ประชาชนจะได้จ่ายค่าทางด่วนในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสายอย่างแน่นอน โดยขณะนี้ กทพ.ได้จัดทำร่างแก้ไขสัญญาสัมปทานใหม่เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการส่งร่างการแก้ไขสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบและทำให้ประชาชนเสียค่าทางด่วนที่ถูกลงภายในปีนี้แน่นอน”

นายสุริยะกล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าทางด่วนใหม่ภายหลังจากที่มีการแก้ไขสัญญาแล้ว จะเริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25-90 บาท โดยจะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการปรับลดค่าผ่านทางด่วนลงมาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้อัตราค่าผ่านทางนี้ตลอดอายุสัญญา แต่จะมีการพิจารณาปรับขึ้นทุก 5 ปี ซึ่งเป็นไปตามดัชนีผู้บริโภคที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ต่อข้อถามว่า การปรับลดอัตราค่าทางด่วนลงเหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท แลกกับการขยายเวลาสัญญาสัมปทาน และลดส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าว มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ นาย สุริยะกล่าวว่า เรื่องนี้สามารถอธิบายผลตอบแทนทางการเงินได้ เพราะเอกชนก็ต้องลงทุนก่อสร้าง Double Deck ที่สำคัญเป็นการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่การจราจรติดขัดทุกวัน จึงไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ทำให้พนักงานและลูกจ้างของ กทพ.มีความกังวลว่ารายได้ของ กทพ.ที่ลดลงจะกระทบต่อรายได้ของพนักงานนั้น นายสุริยะกล่าวว่า กทพ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งตนก็เห็นใจพนักงาน แต่ในที่สุดแล้วต้องมองว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร และสิ่งที่เป็นข้อตกลงกันก็ผ่านการกลั่นกลองจากผู้ว่าการ กทพ.แล้วว่าการลดส่วนแบ่งรายได้นั้น ไม่ถือเป็นการเอาเปรียบ.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ