OECD ไฟเขียวรับไทยเป็นสมาชิก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

OECD ไฟเขียวรับไทยเป็นสมาชิก

Date Time: 20 มิ.ย. 2567 05:45 น.

Summary

  • ปัจจุบัน OECD มีสมาชิก 38 ประเทศ สมาชิกของโออีซีดีถือเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” และมี “ดัชนีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์” อยู่ใน ระดับสูงมาก (very high) ปี 2024 ประชากรใน 38 ประเทศโออีซีดีรวมกว่า 1,380 ล้านคน

Latest

กะเทาะ 5 สาเหตุ วิกฤติอสังหาฯ เมื่อคนไทย อยากมีบ้าน แต่มีไม่ได้! ยอดกู้ไม่ผ่าน พุ่งสูงสุด

ในที่สุดก็มีข่าวดีเสียที คณะมนตรี OECD องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรของ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” มีมติเอกฉันท์เมื่อ 17 มิถุนายน เห็นชอบให้เปิดการหารือ กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกกับประเทศไทย หลังจากที่ไทยได้ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD เมื่อเดือนเมษายน 2567 ทำให้ประเทศไทยมีสถานะเป็น ประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการรับเข้าเป็นสมาชิก OECD

ประเทศไทย เป็น ประเทศแรกในอาเซียน ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกโออีซีดี ที่น่าแปลกใจก็คือเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งเจริญกว่าไทยเยอะ โดยเฉพาะ สิงคโปร์ มีกฎหมายและความโปร่งใสสูงกว่าไทยเยอะ กลับไม่มีใครสนใจสมัครเป็นสมาชิก OECD?

ปัจจุบัน OECD มีสมาชิก 38 ประเทศ สมาชิกของโออีซีดีถือเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” และมี “ดัชนีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์” อยู่ใน ระดับสูงมาก (very high) ปี 2024 ประชากรใน 38 ประเทศโออีซีดีรวมกว่า 1,380 ล้านคน มีอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี อายุเฉลี่ย 40 ปี สูงกว่าอายุเฉลี่ยของโลกที่ 30 ปี จีดีพีประมาณครึ่งหนึ่งของโลก

ทำไมไทยจึงอยากเข้าเป็นสมาชิกโออีซีดี?

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เคยให้ข้อมูลว่า เหตุผลที่ไทยมีความจำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกโออีซีดี ก็เพื่อยกระดับให้เป็นประเทศที่มีมาตรฐานขั้นสูง เพื่อสร้างความมั่นใจมากขึ้น เช่น คนที่เข้ามาติดต่อการค้าและลงทุน จะต้องมีความมั่นใจด้านกฎหมายและกติกาธุรกิจที่จะไม่โดนโกง สิ่งสำคัญคือ ระบบการศึกษา แรงงานและสิ่งแวดล้อม โลกวันนี้ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน กระบวนการทั้งหมดกำลังก้าวไปสู่จุดนั้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์หลายด้าน เช่น การปฏิรูปโครงสร้างในหลายมิติ และมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสเข้าถึงตลาดประเทศสมาชิก การเข้าถึงฐานข้อมูลเศรษฐกิจโลกที่หลากหลาย การได้รับคำปรึกษา ความร่วมมือทางวิชาการจากโออีซีดี การสร้างภาพลักษณ์และส่งเสริมบทบาทในเวทีโลก

ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่ คณะมนตรีโออีซีดี ไฟเขียวไทยเข้าสู่ขั้นตอนเป็นสมาชิกแล้ว เลขาธิการโออีซีดีจะจัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิกให้กับไทย โดยมีขั้นตอนและรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ไทยจะต้องดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการโออีซีดีอย่างใกล้ชิดในการ “ปรับปรุงมาตรฐาน” ที่เกี่ยวข้องกับ กฎหมาย (Legislation) นโยบาย (Policies) และแนวปฏิบัติ (Practices) ให้สอดคล้องกับ มาตรฐานของโออีซีดี เพื่อบรรลุการเข้าเป็น สมาชิกแบบเต็มตัว (full member) ในอนาคต โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก

การปรับปรุงมาตรฐานจะครอบคลุมหลากหลายสาขา และเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของประเทศไทย เช่น หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม การศึกษา แรงงาน การพัฒนาเชิงพื้นที่ สิ่งแวดล้อมดิจิทัลฯ ผมดูเงื่อนไขแล้วชอบมาก ทั้งหมดนี้คือ “จุดอ่อน” ของประเทศไทย ที่ทำให้คนไทยจมปลักอยู่กับความล้าหลัง และ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” มาครึ่งศตวรรษแล้ว

และ เงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยได้เป็น สมาชิก OECD สำเร็จ ก็คือ การแสดงออกถึงความมุ่งมั่น (Willingness) และความสามารถ (Ability) ในการปฏิบัติตามสารทางกฎหมายโออีซีดี (OECD Legal Instrument) รวมทั้ง นโยบาย และ แนวทางปฏิบัติ ที่ต้องอาศัย การมีส่วนร่วม จาก ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมเอาใจช่วยและสนับสนุนเต็มที่ครับ แต่ด้วยศักยภาพของรัฐบาลไทยที่เห็นและเป็นอยู่ ยังไม่รู้อีกกี่ปีกี่ทศวรรษ ไทยจึงจะได้เป็นสมาชิก OECD แบบ Full Member เป็นประเทศที่เจริญแล้วอย่างภาคภูมิใจ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ