ขีดความสามารถไทยแซงมาเลย์ ขยับดีขึ้น 5 อันดับเป็นที่ 2 ของอาเซียน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขีดความสามารถไทยแซงมาเลย์ ขยับดีขึ้น 5 อันดับเป็นที่ 2 ของอาเซียน

Date Time: 19 มิ.ย. 2567 07:59 น.

Summary

  • ผลการจัดอันดับที่สำคัญคือ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Performance ของไทย ปรับดีขึ้นถึง 11 อันดับ จากอันดับ ที่ 16 มาเป็นอันดับที่ 5 ความสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้น และในปีก่อนดุลบัญชีเดินสะพัดก็ปรับตัวดีขึ้น

Latest

อ่านเกม กนง.ลดดอกเบี้ย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของขาลง จับตาหนี้ครัวเรือน - สินเชื่อหดตัว “จุดเปลี่ยน”

“เศรษฐา” ปลื้มมาก ครม.รับทราบ IMD จัดอันดับ “ขีดความสามารถการแข่งขัน” ปี 2567 ไทยดีขึ้น 5 อันดับจาก 30 ในปีก่อน ขึ้นเป็น 25 แซงมาเลเซีย และขึ้นเป็นที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ แม้ผลคะแนนสุทธิลดลง แต่ประเทศอื่นก็ลด ขณะที่สมรรถนะทางเศรษฐกิจดีขึ้นถึง 11 อันดับ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 25 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 30 ในปี 2566 และเป็นข่าวดีที่ไทยอันดับดีขึ้นจนแซงมาเลเซียขึ้นเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ แต่เมื่อพิจารณาผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 74.54 คะแนน มาอยู่ที่ 72.51 คะแนน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่ในปีนี้มีภาพรวมผลคะแนนสุทธิลดลง

“ผลการจัดอันดับที่สำคัญคือ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Performance ของไทย ปรับดีขึ้นถึง 11 อันดับ จากอันดับ ที่ 16 มาเป็นอันดับที่ 5 ความสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้น และในปีก่อนดุลบัญชีเดินสะพัดก็ปรับตัวดีขึ้น สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 23 อันดับ จากอันดับ 29 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 6 ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศ อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ จากอันดับที่ 44 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 39”

ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Govern ment Efficiency) ภาพรวมอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว โดยปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้น คือการคลังภาครัฐ ปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 ปัจจัยย่อยที่มีอันดับคงที่ 2 ปัจจัยย่อยคือ นโยบายภาษี อันดับ 8 และกรอบการบริหารสังคม อันดับ 47 และปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 2 ปัจจัยย่อยคือ กรอบการบริหารภาครัฐ ลดลง 5 อันดับ จากอันดับ 34 มาอยู่ที่อันดับ 39 และกฎหมายธุรกิจ ลดลง 8 อันดับ จากอันดับ 31 มาอยู่ที่อันดับ 39

ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ภาพรวมปรับอันดับดีขึ้นจากปี 2566 เล็กน้อย 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 20 ในปี 2567 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการบริหารจัดการที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 22 ในปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 15 และทัศนคติและค่านิยม ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย 1 อันดับ จากอันดับ 19 มาอยู่ที่อันดับ 18

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ภาพรวมอันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีที่แล้ว โดยไม่มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้ว ในขณะที่มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับคงที่ 2 ปัจจัยย่อยคือ โครงสร้างด้านเทคโนโลยี อันดับ 25 และการศึกษา อันดับ 54 และปัจจัยย่อยที่มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 3 ปัจจัยย่อยคือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ลดลง 1 อันดับ จากอันดับ 22 มาอยู่ที่อันดับ 23 โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ ลดลง 1 อันดับ จากอันดับ 39 มาอยู่ที่อันดับ 40 และสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ลดลง 2 อันดับ จากอันดับ 53 มาอยู่ที่อันดับ 55

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปลื้มที่ไทยปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับ ปีนี้ครองอันดับที่ 25 จาก 67 เขตเศรษฐกิจ ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศประจำปี 2024 “นายกรัฐมนตรีขอบคุณการจัดอันดับที่สะท้อนให้เห็นผลสำเร็จของการทำงานของรัฐบาล โดยที่รัฐบาลวางแผนการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบเป็นไปตามยุทธศาสตร์ จึงมั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมที่จะต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้น เอาชนะทุกอุปสรรคเพื่อให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพื่อนำความได้เปรียบเหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ