จากมหาอำนาจขั้วเดียว เป็นมหาอำนาจ “หลายขั้ว” โลกกำลังเปลี่ยน! เศรษฐกิจไทย อยู่ตรงไหน?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จากมหาอำนาจขั้วเดียว เป็นมหาอำนาจ “หลายขั้ว” โลกกำลังเปลี่ยน! เศรษฐกิจไทย อยู่ตรงไหน?

Date Time: 17 มิ.ย. 2567 10:45 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น SCB EIC ประเมิน เร่งให้โลกแบ่งขั้วมากขึ้น รูปแบบการค้ากำลังเปลี่ยนไป มองประเทศเป็นกลางจะมีโอกาสได้ประโยชน์ แนะสินค้าส่งออกไทยเร่งปรับตัว รับ “โลกแยกหมู่ไทยก็ยังรอด”

“หากโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจ และ การค้าโลก จะปรับแย่ลง" นี่คือข้อสรุปจากผลการศึกษาของ IMF ที่เกี่ยวกับ การตั้งกำแพงภาษี ระหว่างขั้วสหรัฐฯ และจีน ว่าอาจส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของโลกหายไปถึง 10.5% 

สะท้อนภาพความน่ากังวลว่า “เศรษฐกิจไทย” จะได้รับผลกระทบอย่างไร? หากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจทวีความรุนแรงขึ้น

โลกแบ่งหลายขั้วมากขึ้น สะเทือนทิศทางการค้า 

SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ว่า นับวันปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยิ่งทวีความรุนแรง โลกข้างหน้าจะเห็นการชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และโลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากระเบียบโลกใหม่กำลังเปลี่ยนทิศจากมหาอำนาจขั้วเดียวที่นำโดยสหรัฐฯ มาเป็นมหาอำนาจหลายขั้ว เช่น จีน อินเดีย หรือกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ 

มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึงลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ และสร้างกลไกทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทางการเงินในยามวิกฤติ ขณะผลการเลือกตั้งใหญ่กว่า 60 ประเทศที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยเฉพาะการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 

SCB EIC ประเมินว่า จะมีผลกระทบอย่างมากต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลก เพราะจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์จะยิ่งเน้นประโยชน์ของสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้คาดเดาทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น และสหรัฐฯ จะยิ่งมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีนและกลุ่มพันธมิตรของจีนมากขึ้นอีกด้วย 

เศรษฐกิจไทยจะอยู่ตรงไหน? ในสมการโลกแบ่งแยก

คำถามสำคัญ คือ เศรษฐกิจไทยจะอยู่ตรงไหน? ในสมการโลกแบ่งขั้วมากขึ้นเช่นนี้ ภายใต้ 3 ประเด็นใหญ่ๆ 

  1. การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกเปลี่ยนไปอย่างไร 
  2. ไทยได้หรือเสียประโยชน์จากการแบ่งขั้วอย่างไร 
  3. ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ไทยมีความพร้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลกใหม่ที่กำลังแบ่งขั้วรุนแรงขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยง ศักยภาพการผลิต และการแข่งขันที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม

เมื่อลองแบ่งกลุ่มประเทศในโลกออกเป็น 3 กลุ่ม จะได้แก่ 

  • สหรัฐฯ และประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เคียงกัน (กลุ่มน้ำเงิน) เช่น เม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย 
  • จีนและประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ใกล้เคียงกัน (กลุ่มสีแดง) เช่น ฮ่องกง รัสเซีย อิหร่าน สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา 
  • ประเทศที่มีบทบาทเป็นกลางในจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ (กลุ่มสีเขียว) เช่น อินเดีย อาเซียน-5 (สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บราซิล แอฟริกาใต้ โมร็อกโก 

“สมมุติฐานที่เกิดขึ้นคือ ผู้ส่งออกจากประเทศที่แบ่งขั้วจะปรับตัวด้วยการหันไปขายสินค้าให้ผู้ซื้อภายในประเทศแทน หรือหันไปขายสินค้าภายในกลุ่มประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์เหมือนกัน และหันไปขายสินค้าให้ประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นกลาง”

ไทยจะคว้าโอกาสการค้า ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับกลยุทธ์ 

จริงอยู่ที่อาจมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศที่เป็นกลาง (รวมไทย) จะได้อานิสงส์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า แต่การเบี่ยงเบนทางการค้าอาจไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะสินค้าส่งออกจากประเทศแบ่งขั้วอาจเข้ามาตีตลาดภายในประเทศที่เป็นกลางมากขึ้น  

SCB EIC จึงชี้ว่า ไทยเองจึงต้องเร่งวางกลยุทธ์ในการปรับตัวเชิงรุก เพราะเดิมมีปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตที่เป็นปัญหาสะสมมานาน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาความสามารถในการแข่งขันสินค้าของไทยมีจำกัด เพราะส่วนใหญ่ยังผูกโยงกับการผลิตของโลกเก่า

ฉะนั้น ไทยจะคว้าโอกาสนี้ได้ ภาคธุรกิจต้องปรับตัวตามบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภทที่อาจได้ หรือเสียประโยชน์ แตกต่างกัน 4 กลุ่ม ดังนี้ 

  • กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก
  • กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน
  • กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพ เทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีน เพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น
  • กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความขัดแย้งยังมีโอกาสที่ไทยจะคว้าประโยชน์ได้ หากภาครัฐและภาคธุรกิจตระหนักถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไปรวดเร็วและปรับตัวเชิงรุก เพื่อให้การส่งออกไทยอยู่รอดได้ทั้งในสถานการณ์ “โลกรวมกันเราก็อยู่” หรือแม้ “โลกแยกหมู่ไทยก็ยังรอด”. 

ที่มา : SCB EIC 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ