นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.พร้อมรับนโยบายรัฐบาลมาปฏิบัติในเรื่องพลังงาน เพื่อร่วมผลักดันให้เป็นไปตาม “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2567-80 หรือ PDP 2024” ฉบับใหม่ โดยเฉพาะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากขึ้นในสัดส่วน 51% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดย ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ต้องมีบทบาทผลักดันการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศ และผลักดันโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) (ในร่างแผน PDP 2024 กำหนดสัดส่วนการใช้ไฮโดรเจน 5% ไปผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ สำหรับผลิตไฟฟ้า) เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาด จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อทำให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2608 และ CCS จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคต
ปัจจุบัน ปตท.ได้ลงทุนในแหล่งไฮโดรเจนในต่างประเทศเพื่อศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยี หากเริ่มมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ปตท.พร้อมลงทุนเพิ่ม รวมถึงจะขยายการใช้ไฮโดรเจนไปสู่ธุรกิจโมบิลลิตีด้วย “ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวน ปตท.ได้ช่วยเหลือประชาชน โดยควบคุมราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่ผ่านมา ปตท.ได้นำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผสมในดีเซล ช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ และให้ผลประโยชน์ไปถึงเกษตรกรโดยตรงมากที่สุด”
ส่วนกรณีที่ภาครัฐเดินหน้าผลักดันความร่วมมือในการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) ปตท.จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐแน่นอน เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานชาติในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติจะนำนโยบายรัฐบาลมาดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจ โดยคำนึงถึงประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียบนพื้นฐานความสมดุล ทั้งความมั่นคงทางพลังงาน กำไรที่เหมาะสม และคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม
นายคงกระพันกล่าวว่า สำหรับด้านธุรกิจ ปตท.เตรียมทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจตามแผนการลงทุน 5 ปีใหม่ (2568-72) ในเดือน ส.ค.นี้ โดยนำเสนอให้คณะกรรมการ ปตท.อนุมัติ คาดจะเห็นความชัดเจน ก.ย.-ต.ค.นี้ โดยทิศทางและกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. จะเน้นสร้างความมั่นคงพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593
ทั้งนี้ แบ่งธุรกิจเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจ Hydrocarbon and Power ประกอบด้วย 1. ธุรกิจสำรวจและผลิต สร้างความต่อเนื่อง มั่นคงทางวัตถุดิบ จัดหา source ใหม่ที่มีต้นทุนต่ำ สร้างผลตอบแทนที่ดี และต้องสร้างการเติบโต Hydrocarbon ควบคู่กับการทำ Decarbonization 2.ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิม ซึ่งต้องมีความ Competitive และ Lean แสวงหา Alternative Source ทั้ง Pipe gas และ LNG และมีต้นทุนที่แข่งขันได้ และต้อง Alignment การทำงานร่วมกับภาครัฐ 3.ธุรกิจไฟฟ้า ภารกิจหลักคือ สร้างความมั่นคง และรักษา Reliability ให้กลุ่ม ปตท. พร้อมจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อช่วย Decarbonization & Net Zero ของกลุ่ม ปตท. และหาโอกาสสร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ 4.ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น สร้างความแข็งแรง เติบโตร่วมกับ Strategic Partner รวมทั้ง Competitiveness ด้าน Cost & Feedstock Flexibility ต้องมีการ Synergy Enhancement and Optimization ทั้งกลุ่ม ปตท.รวมถึงมุ่งเน้นสร้างการเติบโตใน High Value & Low Carbon Business 5.ธุรกิจค้าปลีก เน้นการลงทุนที่มี Substance มีความสำคัญต่อผลประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ Asset light 6.ธุรกิจค้าระหว่างประเทศ สร้าง Synergy ในกลุ่ม ปตท.ยกระดับขยายผลทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับกลุ่มธุรกิจ Non-Hydrocarbon Business ที่เป็น New S-Curve หรือธุรกิจใหม่ มีหลักในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้ กลยุทธ์ที่ทำเรื่อง รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี/Life Science & Healthcare /Digital มีความสอดคล้องกับ Global Megatrends แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว องค์กรจึงต้องปรับตัวเร็ว และต้อง Revisit value chain ว่าพื้นที่ใดมีความน่าสนใจ มีอนาคต และเป็นประโยชน์ต่อ ปตท. และประเทศไทย หรือพื้นที่ใดที่ ปตท.มีจุดแข็งสามารถ Synergy ในกลุ่ม ปตท. เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างได้ ประกอบด้วย ธุรกิจ อีวีและโลจิสติกส์ เป็นต้น.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่