จากผลสำรวจ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey – Thailand Perspective ที่จัดทำขึ้นโดย ดีลอยท์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นผลการศึกษาสะท้อนมุมมองของเจน Z และมิลเลนเนียลส์ไทย ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดย Global 2024 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 13 ผ่านการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจน Z และมิลเลนเนียลส์ จำนวน 22,841 คน จาก 44 ประเทศทั่วโลก เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่างๆ ของกลุ่มเจน Z และมิลเลนเนียลส์ ที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก
ซึ่งจากทั้งหมดนี้มีคนไทยที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 301 คน แบ่งเป็น เจน Z จำนวน 201 คน และมิลเลนเนียลส์ชาวไทย จำนวน 100 คน ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกของคนไทยในทั้งสองเจเนอเรชันดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีเดียวกันของคนในเจเนอเรชันเดียวกันทั่วโลก
โดยจากผลการสำรวจพบว่า เรื่องที่เจน Z มีกังวลมากที่สุดคือ ค่าครองชีพ คิดเป็น 37% รองลงมาคือ การว่างงาน 36% และความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง 21% ตามลำดับ
ขณะที่ฝั่งมิลเลนเนียลส์มีความกังวล 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าครองชีพ 37% การความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง 26% และความไม่มั่นคงทางการเมือง/ความขัดแย้งระดับโลก 24%
นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเจน Z ในประเทศไทย 42% และมิลเลนเนียลส์ 60% รู้สึกดีถึงดีมากกับสภาพจิตใจโดยรวมของตนเองในปัจจุบัน เทียบกับปี 2566 โดยคนทั้งสองกลุ่ม ระบุว่ามีความเครียดน้อยลง ส่วนเหตุผลที่สร้างความเครียด ได้แก่ การเงินในอนาคต การเงินในชีวิตประจำวัน และ งาน
โดยที่ความคาดหวังของเจน Z และมิลเลนเนียลส์ไทย ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงิน ลดลงจาก 27% เหลือ 15% และมิลเลนเนียลส์ ลดลงจาก 26% เหลือ 22% รวมทั้งความคาดหวังต่อสถานการณ์การเงินของตัวเอง ของเจน Z ลดลงจาก 37% เหลือ 19% และมิลเลนเนียลส์ ลดลงจาก 38% เหลือ 33% และความคาดหวังต่อสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจ/การเมืองของเจน Z ก็ลดลงเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังเชื่อว่าองค์กรภาคธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 49% และ 47% ตามลำดับ
สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่มีความคาดหวังว่า “ภาคธุรกิจ” ควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมองภาคธุรกิจควรสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของพนักงาน ให้ผลตอบแทนที่เท่าเทียมและโปร่งใส สนับสนุนด้านทุนการศึกษา และสร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะไม่มาซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เจน Z และมิลเลนเนียลส์ในประเทศไทย 81% และ 92% ตอบว่ามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ที่ 62% และ 59% ตามลำดับ โดยที่เจน Z 90% และมิลเลนเนียลส์ 91% มองว่าภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทั้งนี้ 92% ของเจน Z และ 93% ของมิลเลนเนียลส์ ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยแนวปฏิบัติยอดนิยม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแฟชั่นด่วน (Fast Fashion) ลดการเดินทาง ศึกษาข้อมูลด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนการอุดหนุนสินค้าของบริษัทนั้นๆ ทานมังสวิรัติ หรือ วีแกน (Vegan) และเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนมุมมองด้านการทำงานคนรุ่นใหม่ไทยมีเป้าหมายในการทำงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกพนักงาน โดย 96% ของเจน Z และ 99% ของมิลเลนเนียลส์ ตอบว่าการมีเป้าหมายในการทำงานค่อนข้างสำคัญหรือสำคัญมากต่อความพึงพอใจในงานและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเจน Z และมิลเลนเนียลส์ทั่วโลกที่ 86% และ 89% ตามลำดับ
รวมทั้ง 55% ของเจน Z และ 57% ของมิลเลนเนียลส์ ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกทำงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และเป็นงานที่มีความหมายในภาพรวม
อ้างอิง Deloitte
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney