ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรที่เป็น “ผู้สูงอายุ” อยู่ราว 13 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จึงกลายเป็นความเสี่ยงต่อภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น และจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก ตามการเร่งตัวของโครงสร้างสังคมสูงวัย
เกิดเป็นความท้าทายให้ “รัฐบาล” ต้องหารายรับให้เพียงพอต่อ “รายจ่าย” โดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ, กลุ่มผู้สูงอายุ และเงินที่ต้องจ่ายให้ผู้ประกันตนหลังเกษียณอีกด้วย
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ไทยกำลังแบกรายจ่ายสวัสดิการ “เบี้ยยังชีพ” ผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่จำนวนและอัตราการจ่ายเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
หลังจากรัฐบาลเตรียมยกเลิกการจ่ายแบบขั้นบันได มาเป็นจ่ายเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วงวัย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ และอยู่ระหว่างรอเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาในเดือนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอีก
สะท้อนจากในปี 2567 ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ราว 9.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2572 ที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด รายจ่ายส่วนนี้อาจไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท
เจาะรายจ่ายสวัสดิการด้านสุขภาพ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% เช่นกัน จากปี 2557 งบประมาณส่วนนี้ของรัฐอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ในปี 2567
สำหรับกองทุนประกันสังคม ที่เป็นสวัสดิการหลักของแรงงานไทยราว 25 ล้านคน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อประเมินภาพจากรายจ่ายรวมของกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะเงินที่จ่ายหลังเกษียณและสวัสดิการด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่ารายรับ อาจไม่เพียงพอและหมดลงในระยะข้างหน้าหากไม่มีการปรับเงื่อนไข
“รายจ่ายรวมของกองทุนประกันสังคม ขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อปี ขณะที่รายรับรวมขยายตัวเฉลี่ยเพียงแค่ 3% ต่อปีเท่านั้น โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ประกันสังคมมีรายจ่ายมากถึง 156,779 ล้านบาท ขณะมีรายรับเพียง 66,844 ล้านบาท”
ทั้งนี้ 1 ในข้อเสนอแนะ คือ รัฐบาลต้องจัดสรรกองทุนประกันสังคมทั้งด้านรายรับและรายจ่ายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การขยายเพดานค่าจ้าง การขยายอายุเกษียณผู้ประกันตน การดึงแรงงานข้ามชาติเข้าระบบประกันสังคม และการปรับแผนการลงทุนให้สร้างผลตอบแทนมากขึ้น
ซึ่งบางแนวทางภาครัฐอาจมีการศึกษาความเป็นไปได้ไปบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญคงเป็นเรื่องของการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สถานะการเงินของกองทุนประกันสังคม และลดความเสี่ยงที่เงินอาจไม่เพียงพอและหมดลงในอนาคต
เนื่องจากปัจจุบันอายุเกษียณเฉลี่ยไทยอยู่ที่ 58 ปี ขณะที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่อายุเกษียณกลับไม่เปลี่ยนตั้งแต่ปี 2494 ซึ่งการขยายอายุเกษียณเป็นหนึ่งทางเลือกที่รัฐบาลในหลายประเทศที่ประสบปัญหาสังคมสูงวัยเลือกใช้ เช่น ฝรั่งเศส ที่ปัจจุบันอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี และจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 64 ปี ภายในปี 2575 เป็นต้น
เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินเพื่อเกษียณมากขึ้น โดยเฉพาะการดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาออมในระบบ ซึ่งปัจจุบันไทยมีแรงงานนอกระบบราว 21 ล้านคน แต่มีการออมผ่านระบบประกันสังคม 11 ล้านคน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 3 ล้านคน ขณะที่ยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน ที่เสี่ยงไม่มีหลักประกันรายได้ยามเกษียณ