กระแสการปิดโรงงานอุตสาหกรรมยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้การจับตามองอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้าง หลังจากเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ Subaru ประกาศปิดโรงงานในไทยสิ้นปี 2567 ตามมาด้วย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ผู้จำหน่ายรถยนต์ Suzuki ที่ประกาศปิดโรงงานไทยช่วงสิ้นปี 2568 เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่กระทบธุรกิจ จึงเลือกที่จะปรับแผนไปนำเข้ารถจากญี่ปุ่น อาเซียน มาทำตลาดในไทยแทน
ด้าน KKP Research มองว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะเปราะบางในระยะยาว หากไม่เร่งปรับโครงสร้าง ควบคู่ไปกับการหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ มาทดแทนเครื่องยนต์เดิม สะท้อนจากข้อมูลการปิดโรงงานอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2023 โดยพุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือน ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2023 ถึงไตรมาสของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง ส่งผลให้มีการเลิกจ้าง 42,000 ตำแหน่ง
ล่าสุด Krungthai COMPASS ได้เผยบทวิเคราะห์ ชวนเจาะที่มาถึงสาเหตุเบื้องหลัง การปิดตัวของ 2 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเจ้าใหญ่ ว่าส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน อย่างไรบ้าง
Krungthai COMPASS มองว่าสาเหตุที่ทำให้ทั้ง Subaru และ Suzuki ปิดตัว มี 2 ปัจจัย ได้แก่ การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต และปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นเทรนด์ได้ค่อนข้างชัดว่าทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ มียอดขายในไทยที่อยู่ในขาลงอย่างต่อเนื่อง โดย Subaru เคยมียอดขายในไทยที่ 3,952 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 0.4% ในปี 2562 จนยอดขายตกลงมาอยู่ที่ 1,682-2,282 คัน (0.2-0.3%) ในช่วงปี 2565-2566
ขณะที่ Suzuki ซึ่งเคยทำยอดขายสูงถึง 26,380 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 3.3% ในปี 2563 ก็ประสบปัญหายอดขายลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกันในรอบ 3 ปีหลัง โดย ในปี 2566 Suzuki มียอดขายที่ 12,151 คัน ลดลง -39.5%YoY และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 1.6%
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ICE อาจต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ จากการเข้ามาของรถยนต์ BEV ที่ทยอยแทนที่รถยนต์ ICE มากขึ้นเรื่อยๆ โดยการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของค่าย Subaru และ Suzuki คือสัญญาณแรก
การแข่งขันในตลาดรถยนต์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากการเข้ามาตีตลาดในประเทศและตลาดส่งออกของแบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะจากจีน เช่น เช่น BYD GWM
อีกทั้งการขึ้นภาษีสินค้าจีน ซึ่งรวมรถยนต์ BEV จากสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป อาจทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกอื่นแทน ซึ่งจะยิ่งกดดันให้การแข่งขันตลาดรถยนต์ ในไทยรุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้โครงสร้างการผลิตและความต้องการชิ้นส่วนของรถยนต์ BEV เปลี่ยนไปจากรถยนต์ ICE อย่างสิ้นเชิง โดยจะใช้ชิ้นส่วนน้อยลงเพียง 2-3 พันชิ้น ในการผลิตรถยนต์ BEV 1 คัน ซึ่งลดลงจากการผลิตรถยนต์สันดาปภายในมากถึง 10 เท่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ICE ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การปิดโรงงานของ Subaru และ Suzuki ปรับกลยุทธ์ธุรกิจนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในอาเซียน ญี่ปุ่น อินเดีย จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคใน 2 ประเด็น
1. ด้านบริการหลังการขายและซ่อมบำรุงที่ไม่แน่นอน รวมถึงการขายต่อรถยนต์มือ 2 ที่อาจราคาตก
2. ราคารถยนต์ ที่มีโอกาสปรับขึ้นตามโครงสร้างภาษีนำเข้า
โดยการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศมาขายทั้งคัน (CBU) อาจทำให้ราคารถยนต์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับราคาขายที่ประเทศต้นทาง โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งมีโอกาสทำให้รถยนต์นำเข้าอาจต้องเสียภาษีสูงถึง 95% ของราคารถยนต์ C.I.F. ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามองเนื่องจากมีโอกาสกระทบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค และมีโอกาสกระทบต่อยอดขายรถยนต์ของทั้ง 2 ค่าย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney