นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธาน ที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงมหกรรมฟุตบอลยูโร 2024 ว่า คาดจะมีเงินสะพัด 87,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.0% เมื่อเทียบฟุตบอลยูโรครั้งก่อน แบ่งเป็นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 20,575.71 เพิ่มขึ้น 5.1% และการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ (พนันบอล) 67,044.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.10%
“การใช้จ่ายปีนี้คึกคัก เพราะการถ่ายทอดสด ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก เช่น จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหารนั่งเชียร์บอล ที่คนเริ่มกลับมาเชียร์บอลตามปกติแล้ว เห็นได้จากเม็ดเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจครั้งนี้ที่สูงกว่า 20,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี
แต่ที่เติบโตโดดเด่นที่สุดคือ เม็ดเงินพนันบอลที่สูงถึง 67,044.32 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 16 ปี ทำให้ธุรกิจการพนันบอลยูโรครั้งนี้เติบโตสูงสุดเป็น ประวัติการณ์”
ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คนทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ใช้จ่ายมากกว่าฟุตบอลยูโรครั้งก่อน การใช้จ่ายต่อคนมากที่สุดคือ ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 3,700 บาท ทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้าน 4,497 บาท ซื้อสินค้าของที่ระลึกทีมบอล 2,475 บาท และยังพบพฤติกรรมการเล่นพนันบอล เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มตัวอย่าง 35.6% บอกว่าจะเล่นพนันบอล ส่วนใหญ่พนันเป็นเงินสด โดยเฉลี่ยใช้เงิน 2,000 บาทต่อนัด หรือคนละ 23,574 บาทตลอดฤดูกาล
ศูนย์ยังได้สำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย แต่ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนยังละล้าละลังว่า จะสนับสนุนให้เปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพราะ 41% ไม่เห็นด้วย ส่วนที่เหลือเห็นด้วยปานกลางถึงมาก หากรัฐบาลจะเดินหน้าต่อ ต้องให้ความรู้กับประชาชน และเมื่อถามว่าจะไปเล่นหรือไม่ ก็มีทั้งตอบ และไม่ตอบ ส่วนในด้านเศรษฐกิจ แม้ช่วยสร้างรายได้ สร้างงาน แต่ก็จะสร้างหนี้ครัวเรือนมากขึ้น มีปัญหาติดการพนัน จึงเป็นเรื่องก้ำกึ่งที่รัฐบาลต้องศึกษาให้ดีให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน และจากการศึกษาประเทศที่อนุญาตให้เปิดกาสิโนถูกกฎหมาย ในด้านรายได้ พบว่า ลาสเวกัส สหรัฐฯมีรายได้ 30,000 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ, มาเก๊า 32,000 ล้านเหรียญ, เวียดนาม 5,000 ล้านเหรียญ ส่วนไทยจะมีรายได้ 3,000 ล้านเหรียญ หรือ 100,000 ล้านบาท
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การมีสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีบริการต่างๆ เช่น กาสิโน, ห้างสรรพสินค้า, โรงแรมหรู 5 ดาว, ร้านอาหารและบาร์, ศูนย์การประชุม, สวนสนุก ฯลฯ จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้ 105,631 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ของผู้ประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร 69,583 ล้านบาท จากการให้บริการเล่นเกม และการให้บริการอื่นๆ หรือ 0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และรายได้ของรัฐบาล 36,048 ล้านบาทจากภาษีกาสิโน ภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ค่าธรรมเนียมการใช้บริการกาสิโน และจ้างงาน 73,452 คน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่