นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้มา 5 ปีแล้ว และกำลังทบทวนปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากสุดของการบังคับใช้กฎหมายคือ การตีความว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควรหรือไม่ เช่น การปลูกมะนาว บนพื้นที่สีลมที่เป็นพื้นที่ที่มีราคาแพงที่สุดของประเทศ ซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญในการประเมินว่าพื้นที่ใดเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควร ซึ่งจะมีภาระภาษีสูงสุดตามกฎหมายที่ดินฯ “จากเดิมพื้นที่ในเมืองที่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่ามาตลอด แต่เมื่อเริ่มเก็บภาษีที่ดิน เจ้าของที่ดินนำมาปลูกกล้วย ปลูกมะนาว แบบเพิ่งปลูกไม่นาน ดังนั้น ต้องพิจารณาด้วยเหตุผล และต้องทำเป็นกรณีตัวอย่างว่า พื้นที่ใดรกร้างหรือพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งควรเริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยานำร่อง เพราะเป็นท้องถิ่นที่มีการพัฒนาสูงสุด
นายลวรณกล่าวต่อว่า อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอัตรากลางที่รัฐบาลกำหนดให้ท้องถิ่นจัดเก็บ ซึ่งถือเป็นอัตราขั้นต่ำ ท้องถิ่นสามารถปรับเพิ่มให้สูงกว่าอัตรากลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ในกฎหมายได้ แต่กำหนดให้ต่ำกว่าอัตรากลางไม่ได้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนมีความกล้าหาญในการจัดเก็บเพิ่ม เพราะอยากได้เงินมาพัฒนาท้องถิ่น เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน สามารถขึ้นภาษีได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าทันสมัยมาก
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาหลักเกณฑ์การเป็นพื้นที่สีเขียว ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีเจ้าของที่ดินไม่ต้องการปล่อยให้ที่ดินตนเองเป็นที่รกร้างว่างเปล่า อาจปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่เป็นสวน สาธารณะ และเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ จะได้รับการยกเว้นภาษีหรือการจัดทำเป็นสวนป่า ซึ่งต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน “หากเจ้าของที่ดินรายใด ไม่ต้องการเสียภาษีที่ดินฯ อาจใช้วิธียกประโยชน์ที่ดินแปลงนั้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ประโยชน์ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับคาดการณ์รายได้จากภาษีที่ดินฯปีงบประมาณ 67 คาดว่าจะมีรายได้ 40,000 ล้านบาท อาจไม่จำเป็นต้องปรับปรุงอัตรากลางของภาษีให้สูงขึ้น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่