ผ่าปัญหา SMEs ไทย ทำไมเข้าไม่ถึงสินเชื่อ จ้างงานเยอะ แต่ธุรกิจโตช้า ล้มเร็ว

Economics

Thailand Econ

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)

Tag

ผ่าปัญหา SMEs ไทย ทำไมเข้าไม่ถึงสินเชื่อ จ้างงานเยอะ แต่ธุรกิจโตช้า ล้มเร็ว

Date Time: 9 มิ.ย. 2567 12:07 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ถึงปัจจุบัน สะท้อนถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และศักยภาพการเติบโตของ SMEs ไทยที่ยังมีจุดอ่อนในหลายด้าน Thairath Money ชวนผ่าที่มาของปัญหา SMEs ทำไมเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกค้ำประกันเครดิตของ บสย.

ปัญหา SMEs เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน กำลังได้รับการจับตามองมากขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ผลักดันให้หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงขึ้น 91% ต่อ GDP ส่งผลให้ล่าสุดในไตรมาส 1/2567 สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว 5.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


ทั้งนี้สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ถึงปัจจุบัน สะท้อนถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และศักยภาพการเติบโตของ SMEs ไทยที่ยังมีจุดอ่อนในหลายด้าน แม้ปัจจุบันธุรกิจ SMEs จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 35% ต่อ GDP และครองสัดส่วนการจ้างงานเอกชนมากที่สุดกว่า 12 ล้านตำแหน่ง แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าวกลับไม่เปลี่ยนแปลงเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ที่ SMEs มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 38% ต่อ GDP


Thairath Money ชวนผ่าที่มาของปัญหา SMEs ทำไมเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกค้ำประกันเครดิตของ บสย.ที่เชื่อมโยง SMEs กับสถาบันการเงินเข้าด้วยกัน มีข้อจำกัดอะไรบ้าง

ข้อจำกัดกลไกค้ำประกันเครดิต


สมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากจำนวน SMEs ในระบบทั้งหมด 3.2 ล้านราย มี SMEs ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ในระบบสถาบันการเงิน เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจ SMEs พบว่า มีการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน โดยข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2567 สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว 5.1% ทั้งนี้แม้จะเห็นการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงโควิด-19 ระหว่างปี 2564-2565 แต่เป็นผลชั่วคราวจากมาตรการสนับสุนนของรัฐบาลเท่านั้น


อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ภาครัฐและ ธปท. มีมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ดังนี้

  • การพัฒนาบริการทางการเงินที่เหมาะกับ SMEs รายย่อย จำกัดเฉพาะกลุ่มที่ต้องการวงเงินไม่สูงมาก เช่น Nano-finance, Pico-finance, Digital p-loan
  • การสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ SMEs ในช่วงวิกฤติ ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราว และช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม เช่น สินเชื่อ soft loan, สินเชื่อฟื้นฟู, สินเชื่อช่วยเหลือผ่าน SFIs


และการค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย). ที่ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวกลางค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs ช่วยแบกรับความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ทำให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่กลไกค้ำประกันกล่าวยังยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ดังนี้


ข้อจำกัด "SMEs"

  • ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
  • มีประวัติการเงินน้อย
  • ขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ข้อจำกัด "บสย."

  • ค้ำประกันได้จำกัดแค่สถาบันการเงินรัฐ-เอกชน
  • คิดค่าธรรมเนียมลูกหนี้เท่ากัน เนื่องจากมีข้อมูลและเครื่องมือไม่เพียงพอ ทำให้ประเมินความเสี่ยงของ SMEs แต่ละรายได้ยาก จึงต้องใช้วิธีค้ำประกันแบบกลุ่ม (portfolio guarantee) ลูกหนี้บางรายจึงต้องจ่ายค่าธรรมสูงกว่าความเสี่ยงที่มี
  • กลไกขาดความยืดหยุ่น ไม่ทันสถานการณ์ เห็นได้จากในช่วงโควิด-19 ที่ต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แก่ SMEs ในการช่วยเหลือเพิ่มเติม

ข้อจำกัด "สถาบันการเงิน"

  • มูลค่าสินเชื่อ SMEs ไม่คุ้มกับต้นทุนความเสี่ยง เลยปล่อยสินเชื่อน้อย และดอกเบี้ยแพง


ตัวอย่างกลไกค้ำประกันในต่างประเทศ 


แม้ประเทศไทย กลไกค้ำประกันสินเชื่อจะยังมีข้อจำกัด ทำให้การปล่อยกู้ไม่ทั่วถึงและเท่าเทียม แต่กลไกที่มีประสิทธิภาพจะต้องตอบโจทย์ทั้งภาครัฐ ผู้ให้กู้ยืม และ SMEs ภายใต้แรงจูงใจที่เหมาะสมร่วมกัน โดยตัวอย่างกลไกค้ำประกันเครดิตที่ประสบความสำเร็จในประเทศที่มี SMEs เป็นแกนหลักคล้ายกับไทย เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน มีลักษณะสำคัญดังนี้

  • ไม่จำกัดประเภทผู้ให้กู้ยืม หรือรูปแบบการกู้ยืมอยู่ที่เฉพาะสินเชื่อ ทำให้สามารถสนับสนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะกับธุรกิจแต่ละกลุ่มมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนธุรกิจตามเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เนื่องจากช่วยลดการกระจุกของความช่วยเหลือ ไม่หนักไปที่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง
  • คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามความเสี่ยงลูกหนี้ (risk-based pricing) มีข้อมูลและแบบจำลองเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนระดับความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละรายทำให้กำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมได้ ช่วยสร้างแรงจูงใจให้  SMEs พัฒนาตัวเอง เกิดการแข่งขันด้านการผลิต
  • กลไกค้ำประกันมีความยืดหยุ่น สามารถใช้เป็นกลไก/เครื่องมือเชิงนโยบายทั้งในภาวะปกติและช่วงวิกฤติ มีเงินทุน (funding) ที่มีเสถียรภาพ มั่นคง ที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละภาคส่วน อย่างเกาหลีใต้ เงินสมทบจะมาจากทั้งรัฐบาล สง. และภาคธุรกิจอื่นๆ ตามความสมัครใจ ทำให้ทั้งรัฐและสถาบันการเงิน และเอกชนต้องร่วมกันประเมินและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ
  • ให้การสนับสนุน SMEs แบบครบวงจร มากกว่าการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ต้องให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ และการบริหารจัดการเงิน เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของ SMEs

SMEs ไทย โตช้า แก่เร็ว

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า แม้ SMEs จะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าประมาณ 35% ของ GDP และครอบคลุมการจ้างงานกว่า 10 ล้านคน อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการของ SMEs ยังเชื่อมโยงกับสินค้า Product Champions จำนวนมาก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง


แต่เมื่อเจาะดูศักยภาพของ SMEs ในแต่ละด้าน พบว่า SMEs ยังมีปัญหาในหลายด้าน นอกจากปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ รายได้ของ SMEs แต่ละขนาดยังต่างกันมาก โดยรายได้มักกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดกลาง และการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ยังมีน้อย ทั้งด้านการผลิตและการบริหารจัดการ แต่ปัญหาสำคัญสองด้านที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีอายุมากและการศึกษาน้อย เมื่อย้อนดูข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี พบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากอายุเฉลี่ย 41 ปี ในปี 2536 เป็น 49.21 ปี ในปี 2566 


แม้แนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่มีข้อได้เปรียบได้รับการศึกษาสูงกว่า โดยส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs จบการศึกษาระดับประถมหรือมัธยมเท่านั้น อายุที่มากขึ้นประกอบกับได้รับการศึกษาน้อย ทำให้โอกาสในการปรับตัว พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงน้อยลงไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลนอกจากจะส่งเสริมศักยภาพ SMEs ให้สามารถยืนด้วยตัวเองได้ ในขณะเดียวก็ต้องมีมาตรการ ช่วยเหลือสร้างแต้มต่อ เพื่อลดช่องว่างระหว่างกิจการแต่ละขนาดด้วย.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

โมจัง ลีลา (โมจัง)

โมจัง ลีลา (โมจัง)
Junoir Content Creator at Thairath Money