ประเทศไทย กำลังเผชิญกับ สถานการณ์ท้าทาย จากประชากรในวัยทำงานลดลงอย่างมาก นี่เองทำให้เราต้องอาศัย “แรงงานต่างด้าว” หรือ “แรงงานต่างชาติ” จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน ในภาคการผลิต การเกษตร และอุตสาหกรรมต่างๆ
บนข้อกังวล แม้แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ จะเข้ามาทำงานในกลุ่ม 3D ที่แรงงานไทยมักปฏิเสธ คือ งานอันตราย (Danger) งานที่มีความสกปรก (Dirty) และงานที่มีความยุ่งยาก (Difficult) ตามกฎหมายไทย แต่มีแนวโน้มที่จะขยายขอบเขตการทำงานเข้าไปยังประเภทธุรกิจอื่นมากขึ้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่แรงงานไทยจะถูกแย่งงานได้
สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุด ของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยว่า สัดส่วนแรงงานต่างชาติในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลูกจ้างในระบบ (ครอบคลุมโดยประกันสังคม มาตรา 33) ของไทย ที่มีอัตราการเติบโตราว 15% จาก 10.2 ล้านคน เมื่อปี 2554 เป็น 11.9 ล้านคน ในปี 2566 ที่ผ่านมา
พบว่า 55% ของลูกจ้างในระบบที่เพิ่มขึ้นมานั้น ล้วนมาจากการโตของจำนวนลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวแทบทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมแรงงานอีกบางส่วน ที่เป็นลูกจ้างที่ทำงานบ้าน งานเกษตร ประมง ขนส่งทางทะเล หรือองค์กรระหว่างประเทศก็ไม่ได้ครอบคลุมอยู่ในระบบประกันสังคม และแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมาก
และเมื่อวัดเป็นสัดส่วน จะพบได้ว่า ไทยมีสัดส่วนแรงงานต่างชาติในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิม เพียง 4% ในปี 2554 เพิ่มสูงขึ้นมาถึง 11% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา
“การเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวนั้น เริ่มสูงขึ้นในปี 2560 แต่มาชะลอและลดลงช่วงโควิด-19 จนปี 2565 จำนวนแรงงานต่างชาติในไทยได้ฟื้นตัวและกลับมาสูงถึงระดับก่อนช่วงโควิด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุด ไทยมีจำนวนแรงงานต่างชาติในระบบกว่า 1.3 ล้านคน”
สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ในไทย รายสัญชาติ พบว่า แรงงานจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน และจีน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วนแรงงาน จากสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น กลับมีจำนวนน้อยลง
เมื่อแบ่ง แรงงานต่างด้าว ตามระดับเงินเดือน จากข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม ปี 2566 จะเห็นว่าแรงงานต่างชาติในระบบ 1.3 ล้านคน ได้เงินเดือนน้อยกว่า 15,000 ซึ่งน่าจะเป็นงานทักษะต่ำกว่า 89% และโดยส่วนมากมาจากสามประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ส่วนแรงงานที่ได้เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งน่าจะเป็นแรงงานทักษะกลางถึงสูง มีเพียง 1.5 แสนคน เท่านั้น
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ ชี้ว่า ภายใต้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในไม่ช้า อัตราเฉลี่ยการเพิ่มของแรงงานไทยในระบบอยู่ที่เพียง 0.81% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นี่เองอาจทำให้ในอนาคต ต้องมีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นชวนคิดว่า รัฐบาล จะมีการปรับตัวในเชิงนโยบายอย่างไร เช่น การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติให้ครอบคลุม เพื่อป้องกันปัญหาทางสังคมที่อาจตามมาอย่างไร หรือให้แรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติมาทำงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง
ขณะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยสะท้อนปัญหาเอาไว้ว่า ในอดีต ประเทศไทย เคยมีบทเรียนจากการที่แรงงานต่างด้าวหนีกลับประเทศจนมีการขาดแคลนแรงงานมาแล้ว
ดังนั้น เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในระยะข้างหน้า รัฐควรเร่งสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาดและให้บริการในภาคบริการ การใช้วัสดุสำเร็จรูปในภาคก่อสร้าง การใช้โดรนในภาคเกษตรกรรม หรือแม้แต่การใช้ช่องทางออนไลน์ สำหรับภาคการค้า เพื่อลดต้นทุนในการจ้างแรงงานและเพิ่มผลิตภาพในการดำเนินธุรกิจด้วย
ที่มา : สำนักงานประกันสังคม, ธปท., สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney