เหตุกังวลเงื่อนไขการใช้ สสว.ชี้เอสเอ็มอีสนใจเงินดิจิทัลน้อยลง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เหตุกังวลเงื่อนไขการใช้ สสว.ชี้เอสเอ็มอีสนใจเงินดิจิทัลน้อยลง

Date Time: 4 มิ.ย. 2567 07:40 น.

Summary

  • สสว.แจง เอสเอ็มอีสนใจโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท น้อยลง เพราะความกังวลต่อเงื่อนไขการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงินโดยเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการต้องการนำเงิน ไปใช้เพื่อซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันมากกว่าการลงทุนและต้องการเบิกจ่ายเป็นเงินสด

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สสว.แจง เอสเอ็มอีสนใจโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท น้อยลง เพราะความกังวลต่อเงื่อนไขการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงินโดยเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการต้องการนำเงิน ไปใช้เพื่อซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันมากกว่าการลงทุนและต้องการเบิกจ่ายเป็นเงินสด จับตาชิงเก้าอี้ “ผอ.สสว.” คนใหม่ที่จะปิดรับสมัคร 6 มิ.ย.นี้ คาด “ปณิตา—วีระพงศ์” ลงสมัคร

นางสาวปณิตา ชินวัตร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีต่อนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านการสอบถามเอสเอ็มอี 2,704 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมโครงการของเอสเอ็มอี อยู่ที่ 75.2% ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่มีสัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมมากถึง 82.9% โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงิน เงื่อนไขของโครงการที่ให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่สามารถเข้าร่วมได้ ทำให้ธุรกิจรายเล็กกังวลต่อยอดผู้ที่จะมาใช้บริการ และบางกลุ่มธุรกิจประเมินว่าธุรกิจของตนไม่เหมาะกับโครงการ รวมถึงการขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์/เครื่องมือหรือทักษะความรู้ในการใช้งาน Super Appเปิดแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัล

สำหรับแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของเอสเอ็มอี พบว่า มีแผนการใช้จ่ายเงินปรับเปลี่ยนไปเมื่อเทียบจากผลสำรวจครั้งก่อน โดย 77% ประเมินว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวัน 22.7% มีแผนนำเงินไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ ขณะที่ผลสำรวจครั้งก่อนพบว่า จะนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 69.6% และ 30.4% จะนำไปลงทุนในธุรกิจ ขณะที่เงื่อนไขของโครงการ ที่กำหนดว่าต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กก่อน 2 รอบ ถึงเบิกเป็นเงินสดได้ ผลสำรวจพบว่า 54.4% ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ มีแผนการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายสินค้าในครัวเรือนมากที่สุด และส่วนใหญ่ต้องการเบิกถอนเป็นเงินสดออกมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและนำเงินไปต่อยอดในการทำธุรกิจ

“ในการสำรวจ ได้ให้เอสเอ็มอี ที่สนใจเข้าร่วมโครงการประเมินแนวโน้มด้านยอดขายและ/หรือบริการของตนจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเอสเอ็มอี ประเมินว่า ธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้น 21-40% ตลอดระยะเวลาจนสิ้นสุดโครงการ เพราะคาดว่าผู้ที่มีสิทธิจะทยอยใช้งานอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ผลสำรวจระบุว่าเอสเอ็มอี มีความกังวล ในด้านระบบและขั้นตอนรองรับ รวมถึงเสถียรภาพของการใช้งานในแอปพลิเคชันใหม่มากที่สุด รองลงมาคือ เงื่อนไขและการใช้สิทธิ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจรายเล็กและธุรกิจขนาดย่อม กังวลว่าไม่มี ร้านค้าที่ตรงตามความต้องการในพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไปใช้จ่ายร้านสะดวกซื้อรายย่อย เช่น 7-11 สำหรับด้านอื่นๆคือ การกลัวโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

ในด้านข้อเสนอแนะเอสเอ็มอีต้องการให้มีการปรับรูปแบบการเบิกจ่ายเป็นเงินสด เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจของตนเอง เช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ที่ต้องการหมุนเงินแบบวันต่อวัน รองลงมาคือ อยากให้มีการใช้สิทธิในแอปเป๋าตังเหมือนเดิม เนื่องจากกังวลต่อการเรียนรู้การใช้งาน Super App ของโครงการ และให้ลดเงื่อนไขในการจำกัดพื้นที่การใช้งาน ให้ใช้งานได้ทั่วประเทศ เนื่องจาก ต้องการความหลากหลายของสินค้าที่ให้บริการ จึงมีความต้องการซื้อสินค้า/วัตถุดิบทั้งจากตลาด/ร้านค้าภายในและนอกอำเภอคาด “ปณิตา-วีระพงศ์” ชิงบิ๊ก สสว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ จะครบกำหนดและปิดรับสมัครการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ เหมาะสม ทดแทนตำแหน่งผู้อำนวยการ สสว. ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ของนายวีระพงศ์ มาลัย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจนถึงวันที่ 31 พ.ค.ยังไม่มีบุคคลใดมาสมัคร

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะมีผู้ยื่นใบสมัคร คือ น.ส.ปณิตา ชินวัตร รักษาการผู้อำนวยการ สสว.ในขณะนี้ เพราะมีประสบการณ์ทำงานที่ สสว.มากว่า 20 ปี โดย น.ส.ปณิตาเป็นลูกสาวของนางเยาวลักษณ์ คล่องคำนวณการ ที่เป็นพี่สาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายวีระพงศ์ มาลัย อดีตผู้อำนวยการ สสว. ทั้งนี้ผู้อำนวยการ สสว.คนใหม่ต้องผลักดันให้เอสเอ็มอี รวม 1.79 ล้านกิจการที่เกิดการจ้างงาน 12 ล้านคน ให้ได้รับการช่วยเหลือในเรื่องเร่งด่วน อาทิ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน เพราะเอสเอ็มอีเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยคิดเป็น 35% ของอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นแหล่งจ้างงานคิดเป็น 71% ของการจ้างงานทั้งระบบ

ขณะที่ นายวีระพงศ์กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะสมัครรับการคัดเลือกหรือไม่ คงต้องรอใกล้ๆ วันปิดรับสมัครว่าจะตัดสินใจอย่างไร ส่วนตัวมองว่ามีหลายๆงานที่ต้องการเข้าไปสานต่อเช่นกัน อาทิ การเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการผลักดันเอสเอ็มอี ให้มุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ