จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า จุดกำเนิดการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกของภูเก็ตทุกวันนี้ มาจากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ James Bond 007 ตอน The Man with the Golden Gun นำแสดงโดย “โรเจอร์ มัวร์” ออกฉายในปี 1974 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน
“วิจิตร ณ ระนอง” กรรมการผู้บริหาร โรงแรม The Slate Phuket อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนแรก ในวัย 81 ปี ย้อนเล่าเรื่องราวที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างออกอรรถรส ว่าภูเก็ตในอดีตเฟื่องฟูจากการทำเหมืองแร่ดีบุก เช่นเดียวกับครอบครัวของเขาที่ทำธุรกิจนี้
“ต้องบอกว่าชีวิตที่ 1 ของเกาะภูเก็ต คือเหมืองแร่ดีบุก ชีวิตที่ 2 คือการท่องเที่ยว จุดเปลี่ยนที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ในตอนนั้นน่าจะอายุ 25 ปี เรียนจบจากอเมริกากลับมาก็มาช่วยทำธุรกิจของครอบครัว แต่ตอนนั้นเราอายุ 20 กว่าๆก็อยากเท่ไฟแรง เปิดโรงหนังติดแอร์แห่งแรกในภูเก็ต ขนาดใหญ่กว่าของคนอื่น 3 เท่าและมีโบว์ลิ่ง ผมติดต่อซื้อหนังมาฉายจนต่อมาก็ได้รู้จักคนที่เกี่ยวข้องในวงการสร้างภาพยนตร์”
เขาเล่าว่า มีการติดต่อไปยัง Albert R. Broccoli ที่เป็นโปรดิวเซอร์ James Bond 007 ตอน The Man with the Golden Gun ให้แวะมาดูโลเกชันที่เมืองไทย ได้รับการตอบรับว่าจะมาได้ครึ่งวันแล้วต้องไปสิงคโปร์ต่ออีก 3-4 วัน ตอนนั้นได้เตรียมโลเกชันเขาพิงกัน หรือเขาตะปู จ.พังงา ไว้ให้พอ Albert R. Broccoli มาถึงก็มาถ่ายรูปเก็บมุมต่างๆไปมากมาย ติดใจโลเกชันที่นีี่ ถึงกับส่งโทรเลขไปแจ้งยกเลิกการเดินทางไปสิงคโปร์ แล้วอยู่ต่อเมืองไทยอีก 3-4 วัน ในที่สุดได้นำรูปที่ถ่ายไปคัดเลือกกันที่อังกฤษ แล้วตกลงใจ มาถ่ายทำที่เมืองไทย
“ตอนกองถ่ายภาพยนตร์เข้ามา เขาให้ผมดูแลเรื่องที่พักของนักแสดงและกองถ่าย ตอนนั้นรู้เลยว่าโรงแรมที่มีอยู่ยังไม่มีความพร้อมที่จะรับชาวต่างชาติได้ ผมไปหาโรงแรมที่ใกล้ๆกับสถานที่ถ่ายทำ แล้วทำการรีโนเวตใหม่ทาสีใหม่ เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ พอเขาถ่ายทำเสร็จทางกองถ่ายได้นำคณะนักข่าวจากยุโรปบินมาดูสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำ มาทำประชาสัมพันธ์ มีข่าวออกไปทั่วโลก เป็นจุดเริ่มต้นของฝรั่งหัวแดงที่เข้ามาภูเก็ต จนก่อเกิดโรงแรมตามมามากมาย”
คุณวิจิตรเล่าว่า พอเป็นอย่างนี้ก็เลยมาทำธุรกิจโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ได้ไปดูงานที่เกาะฮาวาย สหรัฐฯ แล้วกลับมาทำโรงแรมให้มีบรรยากาศแบบเกาะ ต่างจากเดิมที่ภูเก็ตมีแต่โรงแรมที่รองรับเซลล์แมน ต่อมามีการจัดทำแผนแม่บทท่องเที่ยวของเกาะภูเก็ต แต่รัฐบาลในยุคนั้นไม่มีการตอบรับเพราะมองว่าต้องใช้งบประมาณเยอะ แผนแม่บทที่ทำออกมาก็ขึ้นหิ้ง การพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ตก็เลยเป็นรูปแบบของแต่ละคนมามะรุมมะตุ้มกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการไร้ทิศทาง สะเปะสะปะ ที่ดินก็ขึ้นราคา อย่างที่ดินบนหาดป่าตองเมื่อก่อนไร่ละ 2-3 แสนบาท ตอนนี้ไร่ละเป็นร้อยล้านบาท
น่าสนใจอีกประเด็น คือในปี 2521 นักธุรกิจในภูเก็ตก็รวมตัวกันตั้งสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตขึ้นมา หลังจากช่วยกันขับเคลื่อนในปี 2527 ก็สามารถผลักดันให้การบินไทยบินมาลงที่เกาะภูเก็ตเป็นครั้งแรกได้ คุณวิจิตรบอกว่า การที่การบินไทยบินมาลงเกาะภูเก็ตถือว่าสำคัญที่สุด เพราะนอกจากการที่มีนักท่องเที่ยวแห่กันมาเที่ยวภูเก็ตจำนวนมากแล้ว ยังทำให้ภูเก็ตปรากฏบนแผนที่โลกว่าเป็นเส้นทางหนึ่งของการบินไทย และเป็นเส้นทางระหว่างประเทศ
“มีเส้นทางระหว่างประเทศของการบินไทยที่บินไปสิงคโปร์ ตอนนั้นก็ไปขอว่า เวลาบินจากกรุงเทพฯไปสิงคโปร์ ขอให้แวะภูเก็ตก่อน และตอนออกจากสิงคโปร์ไปกรุงเทพฯให้แวะภูเก็ตด้วย ปรากฏว่า ได้ผลมีนักท่องเที่ยวสิงคโปร์เข้ามา เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มาจำนวนเยอะๆ เพราะในตอนนั้นฝรั่งก็ยังไม่ได้มามาก”
ไหนๆได้เจอคนที่เรียกว่า “เก๋า” ที่สุดในวงการท่องเที่ยว เลยถือโอกาสถามคุณวิจิตร ว่ามองอนาคตของเกาะภูเก็ตอย่างไร เห็นด้วยกับนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการผุดสนามบินอันดามันอีกที่มั้ย และนี่คือคำตอบที่ได้
“นายกฯเศรษฐาเข้ามาผลักดันท่องเที่ยวก่อนเรื่องอื่นเพราะท่านเห็นว่าเป็นธุรกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้เร็วที่สุด ท่านมาภูเก็ตหลายครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านอาจไม่รู้หรือมองข้ามคือในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติรวมกัน 14 ล้านคน ขณะที่ในปีก่อน 2566 ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติรวมกัน 9 ล้านคน ที่น่าสนใจคือในช่วงของ 2 ปีนี้ ภูเก็ตมีรายได้จากการท่องเที่ยวใกล้เคียงกัน”
นั่นแสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวของภูเก็ตได้เข้าสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพแล้ว รัฐบาลไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องสาธารณูปโภคมากเหมือนเดิม เรียกว่า มีค่าใช้จ่ายดูแลนักท่องเที่ยวน้อยกว่าแต่มีรายได้เท่ากัน หรือเหนื่อยน้อยแต่ได้มาก
คุณวิจิตรจึงไม่เห็นด้วยกับการต้องมีสนามบินอันดามัน เพราะภูเก็ตเข้าสู่จุดคุณภาพแล้ว จึงไม่อยากให้ปริมาณของนักท่องเที่ยวมากๆ มาขับเคลื่อน และทำลายทรัพยากรของเกาะภูเก็ตอีกต่อไป.
อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม