ต้องยอมรับว่าขณะนี้ เศรษฐกิจไทย อยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย อีกทั้งหนี้ครัวเรือนระดับเกินว่า 90% ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยไม่มีความพร้อมทางการเงิน ต่างกังวลต่อการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธ
ภาพดังกล่าวสะท้อนออกมาจาก ข้อมูลโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า มีหน่วยลดลง -24% และมีมูลค่าหายไปราว -25.2% ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี เกิดภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ออกอาการ “ไม่สู้ดี” นัก
อย่างไรก็ตาม ภาพที่ย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง คือ สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ซื้อ-ขาย คอนโดมิเนียม ที่ครอบครองโดยชาวต่างชาติตามกฎหมายไม่เกิน 49% ต่อโครงการ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกันมีจำนวนหน่วยโอนฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี มูลค่ามากถึง 18,013 ล้านบาท
เกิดข้อเรียกร้องหนาหูจากฟากฝั่งผู้ประกอบการอสังหาฯ ว่าในภาวะที่กำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอเช่นนี้ ทางรอดอาจเป็นความจำเป็นและโอกาสที่จะต้องดึงกำลังซื้อใหม่ๆ ให้เข้ามากระตุ้นภาคอสังหาฯ และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในช่วงสั้นๆ หรือไม่? แต่ทั้งนี้ต้องควบคุมให้มีผลกระทบเชิงลบน้อยต่อผู้ซื้อคนไทย ซึ่งจำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนด้วย
ล่าสุด “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวในงานเสวนา เรื่อง : “ส่องอสังหาริมทรัพย์ไทย พร้อมผงาดแค่ไหน?” ว่า อสังหาฯ ไทย ถือเป็น โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ ที่ต่างชาติมองว่า ประเทศไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีโรงเรียน สิ่งอำนวยความสะดวก ผู้คนเป็นมิตร ทำให้ที่ผ่านมา 25% ของมูลค่าตลาดอสังหาฯ 1 ล้านล้านบาท เป็นต่างชาติเข้ามาซื้อ ซื้อเพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง ซื้อเป็นบ้านตากอากาศ ทำให้อสังหาฯ ของไทย ถือเป็นสินค้าโอทอปประดับชาติ ซื้อแล้วนำกลับไปไม่ได้ ต้องดูแลรักษา
“ประเทศไทยต้องทำแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ใช้ภาคอสังหาริมทรัพย์มาช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ถือเป็นความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย แต่ไตรมาสแรกที่ผ่านมากลับพบว่าตลาดมียอดขายติดลบ 25-30% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี เช่น ทาวน์เฮาส์ ยอดต่ำสุดในรอบ 12 ปี ตนทำงานด้านนี้มาไม่เคยเจอเหตุกาณ์แบบนี้มาก่อน เพราะกำลังซื้อคนไทยซื้อไม่ได้”
อย่างไรในตลาดต่างชาติที่ซื้อคอนโดฯ ได้ถูกต้องตามกฎหมาย มีตัวเลขโอนฯ ต่อปีโต 5% จากภาพรวมทั้งประเทศ ในจังหวัดที่ยอดนิยม กทม. ชลบุรี ภูเก็ต เป็นจังหวัดหลักๆ ดีมานด์ต่างชาติ โดยมีคนจาก จีน เมียนมา และไต้หวัน เป็นกลุ่มผู้ซื้อหลัก ควรได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้
จึงถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องจัดระเบียบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากเรื่องกฎเกณฑ์เข้มงวด LTV ที่ส่งผลต่อการขอสินเชื่อแล้ว มั่นใจ อสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ รองจากภาคท่องเที่ยว คล้ายสิงคโปร์ ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งเนื่องจากภูมิประเทศดีกว่ามาก
ทั้งนี้ สมาคมฯ จึงมีแผนจะเสนอมาตรการภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยระยะสั้น
นอกจากนี้ อยากให้ใช้การพัฒนาโครงการอสังหาฯ ขนาดใหญ่ของไทย MAN MADE ในการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความน่าสนใจแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศไทย เช่น พื้นที่รัชดา ฯลฯ การใช้พื้นที่พญาไท ที่มีโรงเรียนแพทย์ 6 แห่ง เป็นเมดิเคิลฮับ เป็นต้น และอยากให้ กระทรวงการคลัง กับ ธปท. ทำงานร่วมมือกันเพื่อกู้วิกฤติของประเทศ.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney