รัฐลดเป้าจีดีพี 4 ปีรวด! ทำงบฯขาดดุล ดันหนี้สาธารณะพุ่งยังเอาเศรษฐกิจไม่อยู่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐลดเป้าจีดีพี 4 ปีรวด! ทำงบฯขาดดุล ดันหนี้สาธารณะพุ่งยังเอาเศรษฐกิจไม่อยู่

Date Time: 29 พ.ค. 2567 06:45 น.

Summary

  • รัฐบาลปรับแผนการคลังระยะปานกลางเพิ่มการขาดดุลงบประมาณปี 67 หาวงเงินโปะนโยบายแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ผวาสัญญาณอันตราย!! ปรับลดคาดการณ์จีดีพีหรือการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง 4 ปีรวด ตั้งแต่ปี 68–71 ทั้งที่วางแผนทำงบประมาณขาดดุลเพื่ออัดเงินเข้าระบบถึงปีงบประมาณปี 71 ดันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 (ปีงบประมาณ 2568-71) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ โดยได้ปรับลดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตั้งแต่ปี 2567-71 ลงให้สอดคล้องกับประมาณการครั้งใหม่ โดยปี 67 เดิมอยู่ที่ 2.7% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 2.5% ปี 68 เดิมอยู่ที่ 3.3% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3% ปี 69-70 เดิมอยู่ที่ 3.3% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.2% และ ปี 71-72 เดิมอยู่ที่ 3.2% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 69 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และปี 70 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.1- 2.1 ส่วนในปี 71-72 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วง 1.3-2.3%

สำหรับเหตุผลของการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางฉบับทบทวน เป็นผลจากการที่รัฐบาลหาแหล่งเงินสำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยแผนฯล่าสุดได้ปรับประมาณการรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 67 เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท เป็น 2,797,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 68 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 69 เท่ากับ 3,040,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 70 เท่ากับ 3,204,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 71 เท่ากับ 3,394,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายปี 67 ปรับเพิ่มขึ้น 122,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินงบประมาณอยู่ที่ 3,602,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 68 อยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท ปีงบประมาณ 69 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 70 อยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 71 อยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท

“ปีงบประมาณ 67 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลทั้งสิ้น 805,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.3% ต่อจีดีพี, ปี 68 ขาดดุล 865,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อจีดีพี ปี 69 อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อจีดีพี ปี 70 อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% ต่อจีดีพี และปี 71 อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อจีดีพี”

ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 66 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็น 62.4% ของจีดีพี และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สำหรับปีงบประมาณ 67 เท่ากับ 65.7% ปีงบประมาณ 68 อยู่ที่ 67.9% ปีงบประมาณ 69 อยู่ที่ 68.8% ปีงบประมาณ 70 อยู่ที่ 68.9% และปีงบประมาณ 71 อยู่ที่ 68.6%

นายชัยกล่าวว่า เป้าหมายและนโยบายการคลัง รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ดังกล่าว มีเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น รัฐบาลได้ทำงบประมาณแบบขาดดุลเพิ่มเติม หมายถึงการกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ภายในแผนนี้กลับปรับลดจีดีพีลงตลอด 4 ปี อีกทั้งยังสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลนี้ที่ระบุว่าจะผลักดันให้จีดีพีตลอดการบริหารของรัฐบาลขยายตัวเฉลี่ย 5% นอกจากนี้ จะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีแนวทางจัดทำงบประมาณแบบสมดุล โดยจัดงบประมาณแบบขาดดุลทุกปี และไม่มีแนวทางบริหารให้หนี้สาธารณะลดลง และเป็นอันตรายมากที่หนี้สาธารณะขึ้นไปแตะ 68% ของจีดีพี หากวิกฤติขึ้นมาจะไม่มีช่องว่างทางการคลังในการกู้เงินมาแก้ไขได้เลยเพราะเพดานอยู่ที่ 70% ของจีดีพี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประกาศจีดีพีไตรมาส 1 ขยายตัวที่ระดับ 1.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ศูนย์วิจัยของธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 67 ใหม่ โดยศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 (ไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) เหลือ 2.5% จากเดิม 2.7% โดยช่วงที่เหลือปี 67 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นได้แก่ 1.การส่งออกขยายตัวจำกัด โดยส่งออกไทยฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล รถยนต์และส่วนประกอบ 2.ภาคผลิตที่ฟื้นตัวช้า จากสินค้าคงคลังที่สูง และส่วนหนึ่งถูกสินค้าจีนตีตลาด 3.การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากรายได้ฟื้นช้าทำให้ครัวเรือนเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เริ่มมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ