ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 (ปีงบประมาณ 2568-2571) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ โดยได้ปรับลดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตั้งแต่ปี 2567-2571 ลงให้สอดคล้องกับประมาณการครั้งใหม่
โดยปี 2567 เดิมอยู่ที่ 2.7% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 2.5% ปี 2568 เดิมอยู่ที่ 3.3% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3%
ปี 2569-2570 เดิมอยู่ที่ 3.3% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3.2% และ ปี 2571-2572 เดิมอยู่ที่ 3.2% ฉบับใหม่ลดลงเหลือ 3% สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และปี 2570 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.1-2.1 ส่วนในปี 2571-2572 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วง 1.3-2.3%
สำหรับเหตุผลของการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางฉบับทบทวน เป็นผลจากการที่รัฐบาลหาแหล่งเงินสำหรับการดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยแผนฯล่าสุดได้ปรับประมาณการรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท เป็น 2,797,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2568 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 เท่ากับ 3,040,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2570 เท่ากับ 3,204,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2571 เท่ากับ 3,394,000 ล้านบาท
ส่วนงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 122,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินงบประมาณอยู่ที่ 3,602,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท
“ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลทั้งสิ้น 805,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.3% ต่อจีดีพี ปี 2568 ขาดดุล 865,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อจีดีพี ปี 2569 อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อจีดีพี ปี 2570 อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 % ต่อจีดีพี และปี 2571 อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อจีดีพี”
ขณะที่ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็น 62.4% ของ จีดีพี และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สำหรับปีงบประมาณ 2567 เท่ากับ 65.7% ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 67.9% ปีงบประมาณ 2569 อยู่ที่ 68.8% ปีงบประมาณ 2570 อยู่ที่ 68.9% และ ปีงบประมาณ 2571 อยู่ที่ 68.6%
นายชัย กล่าวว่า เป้าหมายและนโยบายการคลัง รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม