ชง ครม.เคาะกู้ 1.12 แสนล้าน ลุยแจกเงินดิจิทัลยันไม่เกินกรอบวินัยคลัง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชง ครม.เคาะกู้ 1.12 แสนล้าน ลุยแจกเงินดิจิทัลยันไม่เกินกรอบวินัยคลัง

Date Time: 28 พ.ค. 2567 06:10 น.

Summary

  • ชง ครม.วันนี้ (28 พ.ค.) กู้เงินเพิ่ม 1.12 แสนล้านบาท โปะแจกเงินดิจิทัล หลังคลังเผยปีงบ 67 จัดเก็บรายได้เพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท ด้าน สศช.ผวาหนี้เสียสินเชื่อบ้านพุ่ง เหตุครัวเรือนรายได้หมด ผลพวงปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ “พิชัย” จี้เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91% ของจีดีพี

Latest

แห่ลงทุนPCBรวม1.6แสนล้าน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐว่า เป็นการทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางให้เข้ากับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่า จำเป็นมากต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อให้เศรษฐกิจโตกว่านี้ และโตต่อเนื่อง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และต้องเพิ่มศักยภาพทางการคลังด้วยการจัดลำดับความสำคัญของรายจ่าย เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ และบริหารหนี้สาธารณะ รองรับความเสี่ยงด้านการคลัง

ด้านนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ได้หารือถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 67 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 ได้เห็นชอบหลักการ โดยจะดำเนินการในวงเงิน 122,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสมทบกับโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งกระทรวงการคลังรายงานว่า ปีงบประมาณนี้จะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนที่จะกู้เพิ่มอยู่ที่ 112,000 ล้านบาท ยังอยู่ภายในกรอบวินัยการคลัง และจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 28 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีงบประมาณรายจ่าย 67 ตั้งงบประมาณขาดดุล 693,000 ล้านบาท ซึ่งผลจากการออกงบรายจ่ายเพิ่มเติมที่ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท จะทำให้ปีงบ 67 ขาดดุลทั้งสิ้น 805,000 ล้านบาท

ส่วนนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า พบการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นครัวเรือนรายได้ปานกลางหรือล่างที่ยังมีปัญหารายได้ส่วนตัวและได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ จากข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาส 4 ปี 66 พบว่ายอดคงค้างหนี้เสียสินเชื่อบ้านเร่งขึ้นถึง 7% จากไตรมาสก่อนที่หดตัว 1.7% คิดเป็น 3.6% ต่อสินเชื่อรวม

“เกือบ 3 ใน 4 หรือ 73.4% เป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 4.5% สูงสุดเมื่อเทียบกับวงเงินสินเชื่อบ้านราคาอื่น ทั้งยังมีสัดส่วนหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือนต่อ สินเชื่อรวมสูงต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส โดยไตรมาส 4 ปี 66 มีสัดส่วน 4.4% จึงต้องเฝ้าระวังและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสีย”

นอกจากนี้ ไตรมาส 4 ปี 66 ความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 158,000 ล้านบาท สัดส่วน 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มจาก 2.79% ของไตรมาสก่อน และคุณภาพสินเชื่อทุกประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะการฟื้นตัวของรายได้ไม่ทั่วถึง โดยสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อสินเชื่อรวม จาก 3.24% เป็น 3.34% และสินเชื่อยานยนต์ จาก 2.10% เป็น 2.13%

“หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 66 มีมูลค่า 16.36 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% ลดลงจาก 3.4% ของไตรมาสก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 91.3% เพิ่มจาก 91% ส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล”

ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ที่ขยายตัว 1.5% ต่ำสุดในอาเซียน ถือว่าแย่มาก ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขคือหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91% ของจีดีพี หรือ 16.3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 63.37% ของจีดีพีแล้ว “เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหามากหลายด้านจากที่สะสมมาในอดีต ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องให้ความร่วมมือรัฐบาลในการแก้ไข ส่วนรัฐบาลต้องเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายๆ นโยบายพร้อมกัน โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ