จริงไหม เป็น “ลูกน้อง” ว่าเหนื่อยแล้ว แต่ถ้าได้ลองเป็น “เจ้าของธุรกิจ” จะรู้ว่าเหนื่อยกว่ามาก โดยเฉพาะถ้าเป็นหน่วยธุรกิจที่เรียกว่า : SME ไทย …
ก่อนหน้านี้ #ThairathMoney นำเสนอเรื่องราว คนสูงวัยล้นเมือง ฉุดทิศทางเศรษฐกิจ และระบุ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อาจเป็น กลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทย เพราะเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานค่อนข้างสูง แต่รายได้ต่ำอย่างที่ไม่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP ทั้งประเทศ
ล่าสุด มีข้อมูลเจาะลึกเพิ่มเติม ที่สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของ SME ไทย ที่อาจต้องเร่งปรับ เพื่อ “เปลี่ยน” ก่อนไปไม่รอด
ttb analytics ระบุ ธุรกิจ SME มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แม้รายได้ SME จะมีสัดส่วนเพียง 18.26% จากรายได้ภาคธุรกิจทั้งหมด แต่ในมิติของจำนวนผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการกว่า 99.53% หรือ 3.19 ล้านราย เป็นธุรกิจ SME รวมถึงเป็นแหล่งการจ้างงานมากกว่า 70% จากจำนวนการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งหมด 18.07 ล้านคน
นอกจากนี้สถานที่ประกอบการ SME ส่วนใหญ่กระจายตัวไปตามพื้นที่ภูมิภาค ส่งผลให้ธุรกิจ SME นอกจากเป็นแหล่งรายได้ให้กับคนส่วนใหญ่ ยังเป็นข้อต่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากศูนย์กลางสู่พื้นที่ภูมิภาค
แต่อย่างไรก็ดี มีข้อมูลสถิติได้บ่งชี้ถึงความเปราะบางในการประกอบธุรกิจของ SME โดยอัตราการอยู่รอดจากการประกอบธุรกิจในช่วง 3 ปีแรกเฉลี่ยอยู่เพียง 20% ซึ่งเป็นเรื่องที่ SME ควรต้องเร่งรับรู้และเตรียมปรับตัวรับมือกับปัญหาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวต่อไป
เจาะ 3 จุดเปราะบาง SME ไทย ได้แก่
- รายได้โตต่ำและขาดกำไรสะสม เนื่องจากธุรกิจ SME กลุ่มที่รายได้น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อปี (SME รายเล็ก) มีกำไรเฉลี่ยจากการดำเนินธุรกิจ (EBIT) เพียง 0.15% ของรายได้ ซึ่งกำไรที่ต่ำย่อมส่งผลต่อกำไรสะสมที่ไม่พอเพียงในการใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพรักษาสถานะการแข่งขัน
- ต้นทุนต่อหน่วยสูง ในการดำเนินธุรกิจนั้น ต้นทุนคงที่เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นต้นทุนปรับลดได้ยาก และต้นทุนคงที่ต่อหน่วยมีความผันผวนตามปริมาณขายซึ่งอาจส่งผลต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนค่าจ้างก็มีนัยของต้นทุนคงที่ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการจ้างงานไม่สามารถเลิกจ้างได้ทันที ส่งผลให้ธุรกิจ SME รายเล็กที่ฐานลูกค้าจำกัดมีต้นทุนในการขายและบริหารสูงถึง 25.3% ของรายได้ ซึ่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่ม SMEs รายกลางขึ้นไปที่มีต้นทุนดังกล่าวเพียง 12.9% ของรายได้ จากฐานลูกค้าที่ใหญ่และมั่นคงกว่า
- อำนาจต่อรองต่ำ โดยปกติแล้ว SME รายเล็กมักมีระยะเวลาต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงกว่า จากอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ SMEs รายกลางขึ้นไป ทำให้จำเป็นต้องสั่งสินค้าครั้งละจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนสินค้าต่อหน่วย ส่งผลต่อเงินทุนที่ต้องสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าคงคลัง รวมถึงอำนาจต่อรองกับลูกค้าของกิจการที่ไม่สูง ทำให้จำเป็นต้องให้เครดิตการค้าที่ยาวขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้า ธุรกิจ SME รายเล็กจึงต้องสำรองเงินทุนเพื่อหมุนเวียนเมื่อเทียบยอดขายสูงถึง 169 วัน มีภาระที่ต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนภายนอกที่ต้องมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
“กำไรต่ำ ต้นทุนต่อหน่วยสูง อำนาจต่อรองต่ำ กอปรกับปัญหาที่ถาโถมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ภาระหนี้ครัวเรือนสูง และต้นทุนของธุรกิจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง กดดันให้ SME มีโอกาสที่อัตราการอยู่รอดต่ำลงกว่าเดิม”
4 ทางรอดธุรกิจ ยุคเศรษฐกิจเติบโตช้า
ทั้งนี้ ttb analytics แนะ นอกจากเจ้าของธุรกิจต้องเร่งกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสม ปรับโครงสร้างต้นทุนให้เหมาะสมกับรายได้ ยังมีอีก 4 เรื่อง ที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้
- ต้องเร่งหาพื้นที่ตลาดที่เหมาะสม เนื่องจากหากกลุ่มลูกค้าไม่ชัดเจนจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างเหมาะสม รวมถึงช่องทางการสื่อสารและจำหน่าย ไม่ตอบโจทย์ อาจเป็นจุดตายได้
- ขยับเข้าหาตลาดเฉพาะที่มีกำไรสูง (Go Niche) เนื่องจากกลุ่มลูกค้าตลาดเฉพาะ มักมีความเต็มใจจ่ายสูง ซึ่งเมื่อกำหนดกลุ่มลูกค้าได้แล้ว การตอบโจทย์เรื่องความสัมพันธ์กับลูกค้าและช่องทางจำหน่าย ก็เป็นเรื่องง่าย
- เร่งสร้างรายได้ในตลาดใหญ่ (Go Mass) กำหนดและเน้นลูกค้ากลุ่มตลาดใหญ่ (Mass Market) ราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ รวมถึงบริการที่รวดเร็ว รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยสินค้าที่ทดแทนง่าย อาจทำในรูปแบบกิจกรรมการให้ส่วนลด เพื่อเพิ่มอัตราการกลับมาใช้บริการซ้ำ
- ต้องเร่งสร้างรายได้และสร้างพื้นที่ทำกำไร ผ่านการเตรียมพร้อมเพื่อยกระดับพัฒนาตัวเอง สร้างพื้นที่ธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นในตลาด SME หรือตลาดรายใหญ่ที่น่าจะเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่ยากขึ้นกว่าเดิม
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่