บอร์ด รฟท.ให้ "ซีพี" หาแบงก์การันตี แก้ไขสัญญารถไฟเชื่อมสามสนามบินกลับมายืนที่เดิม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บอร์ด รฟท.ให้ "ซีพี" หาแบงก์การันตี แก้ไขสัญญารถไฟเชื่อมสามสนามบินกลับมายืนที่เดิม

Date Time: 24 พ.ค. 2567 07:01 น.

Summary

  • บอร์ดรถไฟฯกลับมานับหนึ่งแก้ไขสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ตามเงื่อนไขเดิมที่คู่สัญญาเคยเจรจากันไว้ เร่งซีพีหาแบงก์การันตี 119,000 ล้านบาท ประเด็นใหม่ยอมตัดเงื่อนไขรับบัตรส่งเสริมบีโอไอ เพื่อให้ รฟท.ออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ หวังตอกเสาเข็มในปีนี้ เปิดให้บริการในปี 2572 เตรียมส่ง ครม.เคาะต่อ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด ร.ฟ.ท.) ว่า ที่ประชุมบอร์ดได้รับทราบ เรื่องหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน โดย ร.ฟ.ท.รายงานผลเจรจากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นคู่สัญญาในโครงการดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นกำหนดสิ้นสุดที่เอกชนได้รับการขยายเวลาจากบีโอไอ ครั้งที่ 3 หากไม่หาทางออกจะส่งผลกระทบต่อโครงการ ทั้งนี้ หลักการที่ ร.ฟ.ท.นำเสนอมีเป้าหมายโดยภาครัฐต้องไม่เสียผลประโยชน์เกินกรอบสัญญา ส่วนภาคเอกชนต้องไม่ได้รับผลประโยชน์เกินควร

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการนี้ จากการหารือกับกลุ่มซีพี ได้ข้อสรุปร่วมกันแบ่งเป็น ประเด็นการรับสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เอกชนขอแบ่งจ่ายค่าบริหารสิทธิเป็น 7 งวด มูลค่ารวม 10,640 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกในปี 2567 ส่วนประเด็นการร่วมลงทุน เนื่องจากเอกชนกู้เงินไม่ได้ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ปัญหาสงคราม และอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีเงื่อนไขร่วมกันในการเร่งให้ภาครัฐจ่ายค่าที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ วงเงิน 119,000 ล้านบาท โดยให้จ่ายก่อนกำหนดในงวดที่ 18 นับจากวันที่ออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) จากเดิมภาครัฐต้องจ่ายหลังเอกชนก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ

“จากการเจรจาให้ภาครัฐเร่งจ่ายค่าร่วมลงทุน 119,000 ล้านบาท และการแบ่งจ่ายค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพื่อไม่ให้รัฐรับความเสี่ยงและการันตีได้ว่าเอกชนรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐไปแล้วจะยังคงดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อเนื่อง จึงมีข้อตกลงร่วมกันให้เอกชนจัดหาวางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันทางการเงิน หรือแบงก์การันตี วงเงิน 119,000 ล้านบาท เป็นค่าที่รัฐร่วมลงทุน”

นายอนันต์กล่าวต่อว่า การแก้ไขสัญญาครั้งนี้ ยังตัดเงื่อนไขเอกชนต้องรับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกไป เพราะสัญญาก่อนหน้านี้กำหนดว่า ร.ฟ.ท.จะออกหนังสือ NTP ได้ต่อเมื่อทางเอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริม BOI แต่ในขณะนี้เห็นว่าเอกชนไม่สามารถออกบัตรส่งเสริมการลงทุนได้แล้ว หากตัดเงื่อนไขนี้ออกไปก็จะทำให้ ร.ฟ.ท.สามารถออกหนังสือ NTP และเอกชนเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างได้

ทั้งนี้ ภายหลังบอร์ด ร.ฟ.ท.รับทราบในหลักการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในครั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) และอัยการสูงสุดในการแก้ไขสัญญา โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ จะทำให้ ร.ฟ.ท.ออกหนังสือ NTP เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในปีนี้ โดยเงื่อนไขวางแบงก์การันตี ทางเอกชนต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 270 วัน นับจากวันที่ลงนามแก้ไขสัญญา

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการแก้ไขสัญญาฉบับใหม่ ร.ฟ.ท. มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ครบ 100% ตลอดเส้นทาง จึงเตรียมเร่งรัดให้เอกชนเริ่มก่อสร้างส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการอื่น อาทิ โครงสร้างร่วมรถไฟไทยจีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินส่วนแรกราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเอกชนยังยืนยันจะรับภาระให้ รวมไปถึงเร่งแก้ปัญหาพื้นที่ร่วมใต้อาคารผู้โดยสารโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

“ถ้า ครม.อนุมัติให้แก้ไขสัญญาถือเป็นการปลดล็อกปัญหา และเป็นกระดุมเม็ดแรกในการดำเนินโครงการนี้ รฟท.มั่นใจว่าจะออก NTP ได้ภายในปีนี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2572“.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ