ทีวีครองแชมป์ดึงเงินโฆษณาสูงสุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทีวีครองแชมป์ดึงเงินโฆษณาสูงสุด

Date Time: 23 พ.ค. 2567 06:33 น.

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นางสาวรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลเทรนด์ผู้บริโภคคนไทยผ่านงานสัมมนา Unlock the secrets behind Thailand marketing trend 2024 ว่า การใช้เม็ดเงินโฆษณาของไทยช่วง 4 เดือนแรก อยู่ที่ 37,919 ล้านบาท เติบโต 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 36,563 ล้านบาท โดยสื่อที่มีอัตราเติบโตสูงสุด คือ โรงภาพยนตร์ ขยายตัว 35% มูลค่า 1,125 ล้านบาท เพราะมีหนังดังทยอยเข้าโรงต่อเนื่อง ขณะที่สื่อทีวียังครองมูลค่าสูงสุดที่ 18,922 ล้านบาท โต 1% รองลงมาเป็นสื่ออินเตอร์เน็ต 10,519 ล้านบาท โต 8% และสื่อนอกบ้าน 5,666 ล้านบาท โต 8%

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เม็ดเงินมากที่สุดคือ อาหารและเครื่องดื่ม 4,476 ล้านบาท โต 21% ส่วนกลุ่มที่ใช้เงินเพิ่มแบบก้าวกระโดด คือ รถยนต์ โต 45% โดยทุ่มเงินโฆษณารถไฮบริด (HEV), รถกระบะ และรถไฟฟ้า (EV) ส่วนกลุ่มที่น่าจับตาคือ สินค้าหรูหรา (ลักชัวรี) โต 300% โดยใช้เงิน 77% ไปกับสื่อนอกบ้าน (Out of home) เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีที่โต 112% โดยมีซัมซุงเป็นหัวหอกใช้เงิน ขณะที่กลุ่มที่ใช้เงินลดลงคือ แพลตฟอร์มมาร์เกตเพลส

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเนื้อหาที่มีการพูดถึงในโซเชียลมีเดียนั้น คนไทยพูดถึงลาบูบู้และร้าน Pop Mart มากที่สุดในโลก โดยมีการพูดถึง 644,000 ครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา กลุ่มคนที่พูดถึงมากที่สุดเป็นผู้หญิงวัย 18-34 ปี ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนผ่าน TikTok รวมถึงละครบางกอกคณิกา ที่ถูกพูดถึงกว่า 5.1 ล้านครั้ง ในช่วงวันที่ 15 พ.ค.67 ที่มีการออกอากาศใน EP.3 โดยนอกจากจะถูกพูดในไทยกว่า 82.5% แล้ว ยังถูกพูดถึงในสหรัฐฯกว่า 9.3% ด้วย

ผลสำรวจของ 2024 Nielsen Global Annual Marketer Survey ยังชี้ให้เห็นว่า แม้เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีนัก แต่การใช้เม็ดเงินโฆษณาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มสดใส โดยนักการตลาด 82% ในภูมิภาคมีแผนอัดเงินโฆษณาเพิ่มจากปีที่ผ่านมา สูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยเม็ดเงินกว่า 80% ไหลไปที่โฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และอีกหนึ่งสื่อที่กำลังมาแรงคือ Retail Media Network หรือการลงโฆษณาผ่านเว็บหรือแอปพลิเคชันของห้างค้าปลีก.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ