FTA ไทย–ภูฏานเริ่มแล้ว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

FTA ไทย–ภูฏานเริ่มแล้ว

Date Time: 23 พ.ค. 2567 05:16 น.

Summary

  • ไทย-ภูฏาน ประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.67 และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จภายในปี 68

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ไทย-ภูฏาน ประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.67 และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จภายในปี 68

โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ และนายนัมเกล ดอร์จี รมว.อุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงาน เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารขอบเขตการเจรจา ที่มีนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และนางสาวทาชิ วังโม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงนาม ในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ภูฏาน (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 5 ณ กรุงทิมพู ภูฏาน

“นายนภินทร” บอกว่า สาเหตุที่ทำ FTA กับภูฏาน เพราะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง และก้าวเป็นประเทศกำลังพัฒนาเมื่อปี 66 มีศักยภาพเป็นตลาดรองรับการส่งออกของไทยในระยะยาว แต่ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างกันยังน้อยมาก อย่างปี 66 อยู่ที่ 18.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 18.71 ล้านเหรียญฯ และไทยนำเข้า 0.06 ล้านเหรียญฯ

ดังนั้น การทำ FTA จะช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย เพราะจะมีการลด/เลิกการเก็บภาษีศุลกากร และมาตรการที่มิใช่ภาษี มีการอำนวยความสะดวกทางการค้า และลดอุปสรรคทางการค้า ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า ทำให้การค้า 2 ฝ่ายขยายตัวมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ

ที่สำคัญจะเป็นกลไกสำคัญ จะทำให้มูลค่าการค้า 2 ฝ่าย ที่ปัจจุบันประมาณปีละ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายที่ 120 ล้านเหรียญฯได้แน่นอน!!

สินค้าไทยที่คาดจะได้ประโยชน์ เช่น เกษตรและอาหาร (ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่ง) สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ หลังจากประกาศเปิดการจัดทำ FTA แล้ว ทั้ง 2 ประเทศ ได้เดินหน้าลุยเจรจารอบแรกทันทีในวันถัดมา โดยฝ่ายไทยมีนางสาวโชติมาเป็นหัวหน้าคณะเจรจา ส่วนภูฏานมีนายโซแนม เชอริง ดอร์จิ ผู้อำนวยการกรมการค้า เป็นหัวหน้าคณะ

โดยได้ข้อสรุปโครงสร้างความตกลงสำหรับเปิดเสรีการค้าสินค้า โดยจัดตั้งคณะทำงาน 8 ชุด เช่น ด้านการค้าสินค้า ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ด้านอุปสรรคทางเทคนิค ฯลฯ พร้อมทั้งจัดทำแผนงานการเจรจาที่ตั้งเป้าปิดดีลในปี 68

“นางสาวโชติมา” กล่าวว่า จากนี้ไทยจะเสนอร่างบทในเรื่องต่างๆให้ภูฏานพิจารณา และจะจัดประชุมออนไลน์เพื่อหารือประเด็นทางเทคนิค ก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรอบ 2 เดือน ส.ค.นี้

การทำ FTA มีทั้งได้และเสีย แต่เชื่อว่าคณะเจรจาของไทย จะเจรจาอย่างดีที่สุด โดยยึดผลประโยชน์ประเทศ และคนไทยเป็นสำคัญ ไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบจนเกินไปเหมือนที่ผ่านมา!!


ฟันนี่เอส

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ