นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยจะมีการหารือวงเงินอีกครั้ง และในเร็วๆนี้ จะหารือในคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง โดยในการประชุม ครม.ครั้งนี้ไม่ได้มีการพูดถึงวงเงิน แต่ได้กำชับว่าให้ทำไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.ได้เห็นชอบหลักการของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อนำมาเป็นแหล่งเงินในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้จะเป็นไปตามกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ โดยรายละเอียดทั้งหมด สำนักงบประมาณจะเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง พิจารณารายละเอียด และคาดว่าจะเสนอ ครม.อีกครั้งในวันที่ 28 พ.ค.2567 จากนั้นจึงเสนอกฎหมายเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภาต่อไป
“การทำเรื่องนี้ เชื่อว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ หลังจากได้รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2567 ซึ่งโตต่ำกว่าที่คิดไว้ แต่รัฐบาลก็ยังต้องหาทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆของเศรษฐกิจ”
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบว่า แม้การเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้จะไม่ได้พูดถึงวงเงิน แต่เบื้องต้นกำหนดกรอบวงเงินไว้แล้ว 122,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลเคยเปิดเผยว่า วงเงินที่ใช้ในโครงการนี้จำนวน 500,000 ล้านบาท มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1.เงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท 2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ (ธ.ก.ส.) 172,300 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งในครั้งแรกจะไปเกลี่ยงบจากโครงการต่างๆ แต่ในที่สุดไม่สามารถ ปรับลดงบประมาณได้ตามเป้า จึงต้องตั้งงบเพิ่มเติม หรืองบกลางปี 2567 โดยตั้งไว้ในงบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะคำนึงถึงกฎหมาย เช่น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดว่ารัฐต้องดำเนินนโยบายการคลังตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และมาตรา 7 ซึ่งกำหนดว่าการดำเนินการใดๆของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สิน หรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลัง
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ครม. ว่ารัฐบาลอยากเห็นเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ขยายตัวได้เกินกว่า 2.5% โดยควรหามาตรการต่างๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวให้มากกว่านี้
“รองนายกฯ คอมเมนต์ว่า ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปีนี้ที่ 2.5% เมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้านเติบโตมากกว่าไทย หลายประเทศโตมากกว่า 5% ถ้าเราเติบโตแค่ 2.5% แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีกว่าปีที่แล้ว แต่เราไม่ควรจะพึงพอใจแค่นี้ โดยควรหามาตรการกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามศักยภาพ หรือโตให้มากกว่า 2.5%”
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบปฏิทินการออก พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมกลางปีงบประมาณ 67 ที่ประชุม ครม.ได้สั่งการสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังไปเร่งพิจารณา ส่วนเงินที่จะมานำมาเพิ่มนั้น มาได้จาก 2 แหล่ง คือ 1.รายได้ใหม่ ซึ่งรัฐบาลมีรายได้ที่ไม่ได้บรรจุในงบประมาณ และ 2.การกู้ชดเชยขาดดุล สำหรับขั้นตอนการทำ พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม กลางปีงบประมาณ 67 หลังจากเสนอ ครม.ผ่านแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา ช่วงเดือน ก.ค.67 นี้
“ยืนยันจะไม่กระทบไทม์ไลน์โครงการดิจิทัลวอลเล็ตแน่นอน คือยังเปิดให้ลงทะเบียนในไตรมาส 3 และเริ่มใช้จ่ายในไตรมาส 4 ปี 2567 และขอย้ำว่าฐานะการคลังแข็งแกร่ง ไม่มีปัญหาการเงิน และไม่ถังแตกแน่นอน”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่