รายได้ใหม่ 1.2 หมื่นล้านบาท สรรพากรชง พ.ร.บ.เก็บภาษีส่วนเพิ่มเข้า ครม.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รายได้ใหม่ 1.2 หมื่นล้านบาท สรรพากรชง พ.ร.บ.เก็บภาษีส่วนเพิ่มเข้า ครม.

Date Time: 20 พ.ค. 2567 05:46 น.

Summary

  • กรมสรรพากรชงร่าง พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มเข้า ครม.หวังมีผลบังคับใช้ปีหน้า คาดจัดเก็บรายได้เพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท ชี้เป็นเงื่อนไขของประเทศสมาชิกโออีซีดี เพื่อป้องกันการแข่งขันการลดภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน

Latest

รู้จัก “หวย N3” คู่แข่งหวยใต้ดิน ความหวังใหม่รัฐบาล  ต้อนเงินเข้าระบบ 1 แสนล้านบาท เริ่มขาย 17 ต.ค

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ส่งร่าง พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. ...ไปให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อบรรจุเข้าวาระการประชุม ครม.ตามลำดับขั้นตอนแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักของแนวทางรับมือมาตรการภาษีระหว่างประเทศ Pillar 2 ของข้อตกลงการเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งไทยเป็นสมาชิก

สำหรับข้อตกลงในเรื่องมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโยกย้ายกำไรหรือ Pillar 2 Global Anti-Base Erosion Rules และป้องกันการแข่งขันการลดภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน โดยกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำไว้ที่ 15% หากมีการโยกย้ายกำไรของบริษัทในเครือไปประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า 15% จะต้องมีภาระจ่ายภาษีส่วนต่าง คาดหวังว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มได้ 12,000 ล้านบาท

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งจากการทำประชาพิจารณ์พบว่ากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม Pillar 2 เข้าใจและพร้อมปฏิบัติตาม เนื่องจากเป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างประเทศ สำหรับประเด็นคำถามที่ถูกถามระหว่างประชาพิจารณ์มากสุด คือ ความแตกต่างระหว่างมาตรฐานการบัญชีของไทยกับมาตรฐานการบัญชีที่ใช้ในการคำนวณอัตราภาษีเพิ่ม ซึ่งได้มีการหารือกับสภาวิชาชีพการบัญชีแล้ว หรือการกำหนดรูปแบบของเอกสารที่ต้องใช้ในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีนี้ เป็นต้น

ส่วนบริษัทข้ามชาติที่ได้รับสิทธิภาษีจากการรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์คงเดิม แต่หากคำนวณรายได้ของทุกบริษัทในเครือก็ต้องเสียภาษีส่วนเพิ่ม เพราะตามกฎหมายการจัดเก็บ ภาษี Pillar 2 ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ก่อนประกาศบังคับใช้กฎหมาย กรมสรรพากรจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันอีกหลายรอบเพื่อให้เข้าใจตรงกัน

น.ส.กุลยากล่าวว่า นอกจากนี้โออีซีดียังจะเสนอหลักการทางภาษีให้ไทยและประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติตาม คือ ภาษีการจัดสรรกำไรของบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติที่ต้องปันให้ประเทศต่างๆด้วย หรือ Pillar 1 ซึ่งขณะนี้โออีซีดีอยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างความชัดเจนของระบบภาษีระหว่างประเทศ (Tax Certainty) รวมถึงรายละเอียดของภาษีปันส่วนกำไรก่อน จึงจะประกาศจัดเก็บภาษีตามหลัก Pillar ได้ อย่างไรก็ดี ข้อตกลง Pillar 1 จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีจำนวนประเทศที่เข้าร่วมใช้ความตกลงนี้มากเกินกว่าครึ่งของสมาชิก ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯที่มีบริษัทที่อยู่ในขอบข่ายภายใต้ Pillar 1 จำนวนมาก และต้องปันกำไรมายังประเทศผู้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรส

สำหรับหลักการ Pillar 1 การจัดเก็บภาษีใหม่ระหว่างประเทศด้วยการจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันส่วนกำไรบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติที่มีรายได้รวมจากทั่วโลกตามงบการเงินรวม เกิน 20,000 ล้านยูโร หรือ 800,000 ล้านบาท และมีอัตรากำไรรวมเกิน 10% ของรายได้ โดยกำไรส่วนที่เกิน 10% ของรายได้ดังกล่าวนั้นจะต้องถูกจัดสรรกำไรตามสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปยังประเทศผู้ใช้งานในสัดส่วน 25% ของส่วนกำไรที่เกิน 10% ของรายได้ โดยจะต้องพิจารณาจุดที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากผู้ใช้งานในประเทศต่างๆอย่างน้อย 1 ล้านยูโร หรือ 40 ล้านบาท.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ