จีนตลาดบริโภค “ทุเรียน” ที่ใหญ่สุดในโลก แนวโน้มแข่งดุ เวียดนามเบียดทุเรียนไทย จะไปต่ออย่างไร?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จีนตลาดบริโภค “ทุเรียน” ที่ใหญ่สุดในโลก แนวโน้มแข่งดุ เวียดนามเบียดทุเรียนไทย จะไปต่ออย่างไร?

Date Time: 16 พ.ค. 2567 12:52 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • จีนตลาดบริโภค “ทุเรียน” ที่ใหญ่สุดในโลก ไทยส่งออกกว่า 9 แสนตัน จากวางขายในห้าง สู่ ตามท้องถนน ขณะแนวโน้มแข่งดุเวียดนามเบียด ราคาเริ่มจม ไทยไปต่ออย่างไร?

Latest


ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เผยให้เห็นว่า ไทย ส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีน เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2566) กลายเป็นผลไม้ ที่มีสัดส่วนสำคัญ และ ส่งออกได้มากที่สุด สร้างรายได้ให้หลักให้แก่ไทย 

ขณะทุเรียนไทยเกือบทั้งหมด ถูกส่งออกไปจีน ฮ่องกง และไต้หวัน โดยตลาดสำคัญ คือ มณฑลกวางตุ้ง, กว่างซีจ้วง, หยุนหนาน, ฉงซิ่ง และเจ้อเจียง 

การจำหน่ายทุเรียนในตลาดจีนมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา จากปี 2558 มีการจำหน่ายทุเรียน เฉพาะในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการจำหน่ายทุเรียนตามท้องถนน และร้านขายผลไม้ในซอยเล็กๆ ตลอดจนแผงลอยตามข้างทาง จนทุเรียนเป็นผลไม้ที่ชาวจีนส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี

สำหรับปีนี้ ทุเรียนหมอนทองไทย เริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดจีน ในช่วงกลางเดือนเมษายน ที่ผ่านมา รวมถึงสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ก้านยาว มูซานคิง และชะนี ด้วย 

"ทุเรียน" ผลไม้ราคาสูง-ทรงอิทธิพลในตลาดจีน  


ทุเรียนถือว่าเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงในตลาดจีนและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง จากรายงานของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ระบุ ในทุกปีช่วงเดือนมีนาคม-ตุลาคม เป็นช่วงที่ตลาดทุเรียนเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่เป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนจำนวนมาก

ส่วน ราคาทุเรียน ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร ณ เมืองหางโจว เดือน พ.ค.ราคาขายปลีก และ ราคาขายส่ง ทุเรียน อยู่ที่ 60 หยวน (300 บาท) ขณะ หมอนทองไทย ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ณ กรุงปักกิ่ง ที่เคยมีราคาขายปลีก 120 หยวน (600 บาท) เมื่อเดือน มี.ค. ขณะนี้ ราคาปรับลดลงมาอยู่ที่ 69.8 หยวน (299 บาท) สะท้อนให้เห็น ถึง ราคาที่ปรับลดลง แต่ส่วนหนึ่ง เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้นด้วย

 

ข้อมูลในชุดเดียวกัน ยังชี้ให้เห็นว่า “ประเทศจีน” เป็นตลาดบริโภคทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทุเรียนได้กลายเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดของจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

จากสถิติในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ของจีน มีมูลค่าถึง 6,699 ล้านเหรียญสหรัฐ ราว 1.42 ล้านตัน เติบโตเกือบ 3 เท่า จากปี 2563 

ปริมาณนำเข้าจากคู่ค้าหลัก มาจาก...

  • ไทย 65.19 % (9.28 แสนตัน)
  • เวียดนาม 34.55% (4.92 แสนตัน)
  • ฟิลิปปินส์ 0.26% (3.77 พันตัน)

อย่างไรก็ดี ผลิตของไทยจะออกสู่ตลาดช้ากว่าเวียดนาม ส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนามสูงกว่าไทยบางช่วง แต่โดยภาพรวมทั้งปี 2566 ไทยยังคงเป็นแชมป์การส่งออกทุเรียนในตลาดจีน

ขณะศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปี2567 การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีน คาดว่าจะอยู่ที่ 4,500 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12% ซึ่งนับเป็นการเติบโตแบบชะลอลง จากฐานที่สูงในปีก่อน และเป็นผลจากปริมาณและราคาที่เติบโตชะลอลงจากปีก่อนหน้า

มองไปข้างหน้า แม้ไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ แต่ทุเรียนประเทศคู่แข่งก็มีส่วนแบ่งในตลาดจีนมากขึ้น อย่างเวียดนาม จึงนับเป็นความท้าทาย ขณะเดียวกัน จีนกำลังอยู่ในช่วงการทดลองปลูกทุเรียน 

ตลาดการส่งออกทุเรียนทั่วโลกร้อนแรง เวียดนามเบียด ไทยไปต่ออย่างไร


จึงคาดว่าตลาดการส่งออกทุเรียนทั่วโลกจะร้อนแรงยิ่งขึ้น และต้นทุนการส่งออกทุเรียนของเวียดนามมาถึงจีนที่ถูกกว่าไทย จึงจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา แม้ไทยจะมีความได้เปรียบในด้านอุปทานที่แข็งแกร่ง คุณภาพเป็นที่ยอมรับ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคจีนอย่างมากก็ตาม 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ระบุ การผ่อนคลายกฎหมายนำเข้าของจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่อนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ประกอบกับความพยายามในการปลูกทุเรียนจีน จึงทำให้การแข่งขันของตลาดทุเรียนจีนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น กลายเป็นโจทย์ยากของไทย 

ซึ่งผู้ประกอบการไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องให้ความสำคัญต่อแนวโน้มการแข่งขันในอุตสาหกรรมทุเรียนที่ขณะนี้มีคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนา การลดต้นทุนผลิต และรักษามาตรฐานคุณภาพทุเรียนไทย การสร้างมูลค่าเพิ่ม การแปรรูปทุเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดจีน 

รวมถึงการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยที่มีคุณภาพสูง การประชาสัมพันธ์ความเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนไทย ตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การขยายช่องทางในการทำตลาด และพัฒนาช่องทางการขนส่งที่หลากหลาย เป็นต้น เพื่อให้ทุเรียนไทยสามารถอยู่รักษาตลาดจีนให้เป็นที่นิยมได้อย่างยาวนาน และยังคงครองแชมป์ผู้นำทุเรียนในตลาดจีนได้ 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ