ยกแรก! ทรูฟ้องอาญาเจตนากลั่นแกล้ง ศาลให้ “พิรงรอง” ทำหน้าที่ต่อ 

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยกแรก! ทรูฟ้องอาญาเจตนากลั่นแกล้ง ศาลให้ “พิรงรอง” ทำหน้าที่ต่อ 

Date Time: 15 พ.ค. 2567 07:40 น.

Summary

  • ศาลอาญาคดีทุจริตนัดสอบคำให้การนัดแรก คดีทรูฟ้องบอร์ด กสทช. “พิรงรอง” เป็นจำเลย ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ จำเลยให้การปฏิเสธ ขอจัดหาทนายความเอง ส่วนกรณีที่ทรูยื่นคำร้องเพิ่มเติม ขอให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลยกคำร้อง แต่หากพบพฤติการณ์ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ อาจมีคำสั่งเป็นอื่น ด้านทรูครวญฟ้องรักษาสิทธิ์ เพราะจำเลยมีตำแหน่งให้คุณให้โทษ

Latest

จีนเร่งกระจายฐานการผลิต "ผู้ผลิตแบตเตอรี่ - อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง" ตบเท้าลงทุนไทย พุ่ง!

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดสอบคำให้การจำเลยในคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นฟ้อง น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยศาลได้อ่านคำฟ้องแล้วถามจำเลยว่าจะให้การอย่างไร จำเลยให้การปฏิเสธและจะจัดหาทนายความเอง และได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตและนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้รับฟ้องคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นฟ้อง น.ส.พิรงรอง เป็นคดีดำที่ 147/2566 โดยไต่สวนได้ความว่าโจทก์ (ทรู) เป็นผู้ประกอบกิจการ OTT (over the top) ภายใต้ชื่อทางการค้า “ทรูไอดี” ซึ่งสำนักงาน กสทช.ยังไม่ได้มีการประกาศหรือออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล จึงไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งจำเลย (น.ส.พิรงรอง) ทราบดีอยู่แล้ว แต่หลังไต่สวนมีเหตุให้เชื่อได้ว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช.ในขณะนั้น ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการโทรทัศน์ 127 ราย มีข้อความระบุว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ทำให้มีการเข้าใจผิดว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย นอกจากนั้นยังมีหลักฐานบันทึกการประชุมเป็นหลักฐาน คำพูดของจำเลยสะท้อนพฤติการณ์ที่ส่อเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้น หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โดยหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้อง โจทก์ยังยื่นคำร้องเพิ่มเติม ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณาคดีด้วย อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งในวันเดียวกัน (14 พ.ค.67) ให้ยกคำร้อง โดยเห็นว่าในขณะนี้ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับโจทก์หรือกลุ่มบริษัทโจทก์ จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสั่งให้จำเลยยุติการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตามหากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ และให้เจ้าพนักงานคดีและคู่ความร่วมกันจัดเตรียมเอกสาร หลักฐาน บัญชี พยานให้พร้อม ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน โดยศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 30 ก.ค.2567 เวลา 09.30 น.

วันเดียวกัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้ออกแถลงการณ์ แจงเหตุต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ น.ส.พิรงรองยุติการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากนอกจากเป็นกรรมการ กสทช.แล้ว น.ส.พิรงรองยังดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ การยื่นคำร้องขอให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอนปกติในการรักษาสิทธิ์ เมื่อพบว่ามีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทที่เกิดขึ้นจากกรรมการบางคน จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องรับผิดชอบต่อนักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้บริโภค โดยจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ทางกฎหมายในการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อศาล เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แม้ศาลจะยังไม่มีคำสั่งให้จำเลยยุติการปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล แต่หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้

ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ขอเน้นย้ำว่าพร้อมน้อมรับคำพิจารณาของศาลเสมอ โดยหวังพึ่งพาความยุติธรรมในการพิจารณาคดีความนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แก่ทุกฝ่าย เนื่องจากขณะนี้คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆเพิ่มเติม โดยจะมอบเป็นอำนาจให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาต่อไป.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ