หลังจากที่ “ภาระการคลัง” เริ่มกลายเป็นปัญหาของรัฐบาลในการกู้เงินใหม่มากขึ้นๆ ทั้งการกู้เงินใหม่เพื่อใช้สำหรับโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต การกู้เงินเพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งการกู้เงินเพื่ออุดหนุนกองทุนน้ำมันในการพยุงราคาน้ำมันดีเซล ตามนโยบายของรัฐบาล
หนึ่งในแนวคิดของรัฐบาลคือ การโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงินกลับไปที่แบงก์ชาติ แทนการลงบัญชีหนี้สาธารณะ เพื่อให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง มีพื้นที่การคลังเหลือไปใช้ในโครงการอื่นๆข้างต้น
โดยรายงานล่าสุด หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ.67 มีทั้งสิ้น 11,275,041.76 ล้านบาท หรือ 62.48% ของจีดีพี ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีทีท่าว่าจะชนเพดาน 70% ต่อจีดีพีที่เคยขยายไว้ แต่คนส่วนใหญ่คงไม่สบายใจนัก หากหนี้ของรัฐจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากโครงการ “ให้เปล่า” ไม่ใช่ โครงการลงทุนที่มีโอกาสทำรายได้กลับคืนมา
ขณะที่หนี้ในส่วนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ณ เดือน เม.ย.67 เหลืออยู่ทั้งสิ้น 590,869 ล้านบาท จากยอดหนี้ที่รับมาตาม พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ.2555 ที่ 1.13 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เหตุผลที่รัฐบาลอยากจะโยกหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจากการลงบัญชีหนี้สาธารณะ มาที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เนื่องจากมองว่า ตั้งแต่ พ.ร.ก.ปี 2555 หน้าที่การผ่อนส่งเงินต้นและดอกเบี้ยของหนี้ก้อนนี้โยกจากเดิมที่รัฐบาลตั้งงบประมาณชำระดอกเบี้ยรายปี มาเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว
โดยเงินที่ใช้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยนั้น มาจากกำไรสุทธิและบัญชีผลประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และเงินที่ได้โดยเงินได้หรือการขายสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รวมถึงเงินนำส่งรายปีจากสถาบันการเงิน ไม่เกิน 1% ของยอดเงินฝากรวม ซึ่งขณะนี้เก็บอยู่ที่ 0.46% และจากการคำนวณ หากโยกหนี้ก้อนนี้ออกไปจากหนี้สาธารณะ ไปอยู่ในงบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะลดสัดส่วนหนี้สาธารณะได้มากกว่า 5% ของจีดีพี
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปปี 55 ว่ากันด้วยการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จริงๆแล้ววัตถุประสงค์ของรัฐบาลในขณะนั้นก็ไม่แตกต่างจากในขณะนี้คือ การโอนหนี้ก้อนนี้กลับไปบัญชีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อลดหนี้สาธารณะ แต่ติดขัดทำไม่ได้ จากปัญหาของการโอนหนี้ แต่ไม่ได้ โอนสินทรัพย์มาพร้อมกัน ซึ่งผิดหลักทางบัญชี แต่ถ้าโอนสินทรัพย์มาด้วย เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาลแลกกับหนี้ที่โอนมาก็จะไม่มีผลลดหนี้สาธารณะแต่อย่างใด
ผลการเจรจาจึงจบลงที่ “คลังไม่รับภาระผ่อนส่งดอกเบี้ยหนี้ส่วนนี้ เพราะถือว่าเกิดจากการ เข้าไปดูแลการล้มของสถาบันการเงินในปี 2540 แต่การลงบัญชียังลงเป็นหนี้สาธารณะอย่างเดิม”
ดังนั้น หากรัฐบาลจะพยายามอีกครั้ง ก็ต้องแก้ปัญหาการจัดการสินทรัพย์ และหนี้สินส่วนนี้ ให้ลงตัวก่อน รวมทั้งการแก้กฎหมาย ซึ่งจะแก้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ที่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่อาจจะกระทบกับกองทุนอื่นๆไปด้วย หรือ แก้ พ.ร.ก.กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯก็ตามแต่ แต่ทั้งหมดคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องใช้พละกำลัง และเวลาอย่างมากเพื่อการนี้.
มิสเตอร์พี
คลิกอ่าน "กระจก 8 หน้า" เพิ่มเติม