ธนาคารกลาง ต้องเป็น “อิสระ” จากรัฐบาลจริงหรือ ในวันที่ปัญหาปากท้อง สำคัญกว่าเสถียรภาพ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ธนาคารกลาง ต้องเป็น “อิสระ” จากรัฐบาลจริงหรือ ในวันที่ปัญหาปากท้อง สำคัญกว่าเสถียรภาพ

Date Time: 12 พ.ค. 2567 11:12 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • “ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ” ทำสังคมเสียงแตก หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย วิจารณ์ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ Thairath Money ชวนส่องเหตุผลทำไมธนาคารกลาง ต้องเป็น “อิสระ” ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ในวันที่ปัญหาปากท้องสำคัญกว่าเสถียรภาพ

Latest


“ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ” กลายเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมตลอดทั้งสัปดาห์ หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย วิจารณ์การทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์ในงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่าความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งวาทกรรมดังกล่าว แสดงถึงความไม่ลงรอยกันด้านนโยบายการเงิน-การคลัง ระหว่างแบงก์ชาติและรัฐบาล


ทำเอาสังคมเสียงแตกเป็นสองฝั่งว่าอาจถึงเวลาที่ต้องจำกัดอำนาจกำหนดนโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติ เนื่องจากดำเนินนโยบายควบคุมเงินเฟ้อไม่เข้าเป้าหลายครั้งในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา บ้างก็ไม่เห็นด้วย เพราะหากแบงก์ชาติไม่เป็นอิสระตามบรรทัดฐานสากล อาจส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นประเทศ


จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนมากที่สุดในรอบหลายปีแล้ว การถูกกดดันให้ลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลเพื่อไทย ด้วยการหยิบยกปัญหาหนี้ครัวเรือน และศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า 3% ซึ่งสะท้อนถึงความเร่งด่วนของปัญหาปากท้องที่ต้องได้รับการแก้ไข จุดกระแสให้นักลงทุนชาติจับตามองถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

Thairath Money ชวนส่องเหตุผลทำไมธนาคารกลาง ต้องเป็น “อิสระ” ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ในวันที่ปัญหาปากท้องสำคัญกว่าเสถียรภาพ

เปิดเหตุผล ทำไมธนาคารกลาง ต้องเป็น “อิสระ”


ไม่ใช่แค่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้นที่เริ่มถูกตั้งคำถามจากประชาชน และถูกแทรกแซงจากรัฐ แต่ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศก็กำลังตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน

คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่า ธนาคารกลางในหลายประเทศกำลังเผชิญแรงกดดันทางการเมืองให้ลดดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร เนื่องจากเป็นปีแห่งการเลือกตั้งของหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย

ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงความเสี่ยงถูกแทรกแซงทางการเมืองที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย และการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญๆ ในธนาคารกลาง

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ IMF ซึ่งเก็บข้อมูลธนาคารกลางหลาย 10 แห่งตั้งแต่ปี 2550-2564 พบว่า ธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระสูง ประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อมากกว่า ธนาคารกลางที่มีอิสระต่ำ แสดงให้เห็นถึงว่าความเป็นอิสระของธนาคาร ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมเสถียรภาพทางการเงิน

เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร หากธนาคารกลางถูกแทรกแซง


แม้ปัจจุบันทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง แต่ในความจริงแล้วธนาคารกลางแต่ละประเทศล้วนถูกแทรกแซงจากรัฐบาลไม่มากก็น้อย อ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายคนคงเกิดคำถามว่าถ้าหากธนาคารกลางถูกแทรกแซงทางการเมืองขึ้นมาจริงๆ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร แล้วมีประเทศไหนบ้างที่เคยถูกแทรกแซง


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คงนี้ไม่พ้นประเทศจีน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศอย่างธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ต้องรักษาเสถียรภาพพร้อมดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐบาลกลาง PBOC จึงเปรียบเสมือนแขนขาของรัฐ ผู้อยู่เบื้องหลังการเติบโตของเศรษฐกิจจีน 


อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินนโยบายทางการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังของพรรคคอมมิวนิสต์ จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ตรงจุด และรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าเศรษฐกิจจะดีตามคาด ตรงกันข้ามยังเพิ่มความเสี่ยงต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม จะเห็นได้จากการบริหารงานผิดพลาดรัฐบาลในปี 2564 ที่มุ่งเน้นให้เศรษฐกิจเติบโตจีนอย่างมีเสถียรภาพ ด้วยการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดควบคุมการสร้างหนี้และการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ จนทำให้หลายๆ บริษัทขาดสภาพคล่อง ท่ามกลางกำลังซื้อที่ถดถอยลง นำมาสู่จุดเริ่มต้นของวิกฤติหนี้สินในภาคอสังหาฯ ในปัจจุบัน ทั้งนี้ภาคอสังหาฯ มีน้ำหนักมากถึง 25% ต่อ GDP เนื่องจากคนจีนส่วนใหญ่นิยมลงทุนอสังหาฯ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในภาคการเงิน

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ