นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ
1.มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร
2.มาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG โดยตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถัง ขนาด 15 กิโลกรัม
3. มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายพลังงาน โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์/หน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน จะให้ใช้ไฟฟ้าในราคาเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย มีผลในงวดเดือน พ.ค-ส.ค. 2567 ซึ่งจะครอบคลุม 17 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
“ผมจะให้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปก่อน หากไม่พอจะให้นำงบกลางออกมาใช้ โดยกระทรวงพลังงานเสนอของบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 1,800 ล้านบาทมาดูแลค่าไฟฟ้าและราคาแก๊สหุงต้ม เพื่อช่วยลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันติดลบทะลุแสนล้านบาทไปแล้ว”
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า มาตรการในการดูแลประชาชนในครั้งนี้จะใช้งบกลางฯในการดูแลในส่วนของค่าไฟฟ้าให้กับกลุ่มเปราะบางประมาณ 1,800 ล้านบาท ส่วนการดูแลน้ำมันและก๊าซหุงต้มจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแล
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย.2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ครม.จึงเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการนี้ต่อไปนี้
ประกอบด้วย 1.ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย.-31 ก.ค.2567
2.ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG หรือก๊าซหุงต้ม ที่ระดับ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ระยะเวลาดำเนินการ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2567
3.ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์/หน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ค.- ส.ค.2567 รวม 4 เดือน
โดยกระทรวงพลังงานคาดว่าจะใช้เงินสำหรับดำเนินทั้ง 3 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบด้วย การช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล 6,000 ล้านบาท การช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG จำนวน 500 ล้านบาทและมาตรการด้านไฟฟ้า 1,800 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันและไฟฟ้ามีแนวโน้มคงตัวในระดับสูงจากความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ หากยังทำการอุดหนุนราคามากเกินไปจะกระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลไกตลาด และอาจทำให้มีการใช้พลังงานไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ สมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ร่วมกันพัฒนาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อใช้ทดแทนฟอสซิลด้วย
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นว่า ขณะนี้องค์ประกอบต่างๆเป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน แต่กำลังเร่งแก้ไขอยู่ให้เร็วที่สุด เมื่อเสร็จแล้วจะเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ทุกวันนี้ไม่มีใครคุมได้ ราคาน้ำมันขึ้นลงตามอำเภอใจ ผู้ค้าคิดจะขึ้นก็ขึ้น คิดจะลงก็ลง วิธีการแก้ปัญหานี้คือแก้กฎหมาย.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่