ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการตัดวงจรลูกหมูออกจากระบบ เพื่อแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำ ช่วยเหลือผู้เลี้ยง โดยได้อนุมัติวงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท ให้กรมปศุสัตว์จ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงลูกหมูตัวละ 400 บาท มีเป้าหมายนำลูกหมูออกจากระบบ 75,000 ตัว ระยะเวลา 3 เดือน ในเดือน พ.ค.-ก.ค. เพื่อช่วยลดจำนวนหมูส่วนเกิน ให้มีความสมดุลระหว่างผลผลิตและความต้องการบริโภค ที่จะมีผลช่วยดึงราคาให้สูงขึ้นในระยะยาว
ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูประสบปัญหาขาดทุนจากการเลี้ยงอย่างมาก มีต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 71-79 บาท แต่กลับขายหมูเป็นหน้าฟาร์มได้เพียง กก.ละ 70-72 บาท เนื่องจากมีปริมาณสุกรในตลาดมากเกินไป โดยมีผลผลิตส่วนเกินวันละ 6,000-7,000 ตัว และมีเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศมาวางขายในท้องตลาดในราคาถูกอีก จึงฉุดให้ราคาหมูของไทยลดลง มาตรการนี้จะช่วยดึงหมูส่วนเกินออกจากระบบ เพื่อนำไปทำหมูหัน ช่วยดึงให้ราคาหมูปรับขึ้นหรือจนกว่าจะเข้าสู่จุดคุ้มทุน
สำหรับการชดเชยค่าลูกหมูให้ตัวละ 400 บาท เมื่อรวมกับราคาที่เกษตรกรขายได้ตัวละ 150 บาท จะทำให้มีรายได้รวมตัวละ 550 บาท เมื่อเทียบกับต้นทุนลูกหมูตัวละ 1,100 บาท เกษตรกรยังขาดทุนอยู่ตัวละ 550 บาท แต่เป็นจุดที่เกษตรกรพอใจ เพราะหากฝืนเลี้ยงไปอีก 2-3 เดือนจนโต อาจขาดทุนเพิ่มเป็นตัวละ 2,000-3,000 บาท จึงต้องตัดตอนหมูตั้งแต่ยังเป็นหมูเด็ก เพื่อช่วยให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยขาดทุนน้อยลง แต่หากเกษตรกรขายได้จุดคุ้มทุนเมื่อไรจะยกเลิกมาตรการทันที
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการดูแลราคาหมู และช่วยเหลือผู้เลี้ยงต่อเนื่อง เช่น การรณรงค์ให้คนไทยช่วยบริโภครวมถึงให้ห้างสรรพสินค้างดการจัดโปรโมชันลดราคาเนื้อหมู เพื่อช่วยไม่ให้หมูราคาตกต่ำ ตลอดจนร่วมกับฝ่ายความมั่นคงปราบปรามหมูเถื่อนในท้องตลาด โดยราคาหมูเนื้อแดงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับขึ้นมาอยู่ที่ กก.ละ 134.25 บาท เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้าเฉลี่ยที่ กก.ละ 129.56 บาท
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ไก่ไข่ออกไข่ใบเล็กลง เช่น เบอร์ 2-4 มากขึ้น จากเดิมที่มีไข่เบอร์ใหญ่ เช่น เบอร์ 0-1 จำนวนมากกว่า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงจากการขายไข่ไก่เบอร์เล็กลงจำนวนมาก กรมฯได้ช่วยเหลือผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยได้ประสานนำผลผลิตไข่ไก่คละเบอร์เล็ก 3 และ 4 มาขายผ่านรถโมบายธงฟ้า 100 จุดในกรุงเทพฯ
“กรมฯช่วยเกษตรกรในการดึงผลผลิตไข่ไก่เบอร์เล็ก 3, 4 และ 5 มากระจายสู่ผู้บริโภค โดยขายในราคาต้นทุน แผงละ 95 บาท จากราคาตลาดปกติเฉลี่ยเบอร์ 3 แผงละ 120 บาท ซึ่งเป็นการช่วยเกษตรกรระบายผลผลิตที่ขายไม่ออก และช่วยให้ผู้บริโภคได้บริโภคไข่ไก่ราคาถูก แม้จะฟองเล็กลงแต่โปรตีน คุณค่าทางอาหารยังเหมือนเดิม ถือเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพอีกทาง”
นอกจากนี้ ได้ประสานนำผักสด 10 ชนิด ได้แก่ ผักคะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักชี ผักบุ้งจีน แตงกวา มะระ พริกขี้หนูจินดา มะนาว ไปจำหน่ายผ่านโมบายธงฟ้า และเปิดจุดจำหน่ายใน 10 จังหวัด ที่ไม่ใช่แหล่งผลิตผัก ได้แก่ กำแพงเพชร สุโขทัย ฉะเชิงเทรา อ่างทอง นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ ภูเก็ต และนราธิวาส หากมีความจำเป็นก็จะเปิดจุดในจังหวัดอื่นๆเพิ่มเติมต่อไป.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่