ปี 67 ไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “ประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา” (Watch List : WL) ต่อเนื่องอีกปีนับตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา
ตามที่ปรากฏใน “รายงานผลการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ประจำปี 67” โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR)
และยังมีอีก 19 ประเทศ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับไทย ได้แก่ แอลจีเรีย, บาร์บาโดส, เบลารุส, โบลิเวีย, บราซิล, บัลแกเรีย, แคนาดา, โคลอมเบีย, เอกวาดอร์, อียิปต์, กัวเตมาลา, เม็กซิโก, ปากีสถาน, ปารากวัย, เปรู, ทรินิแดด และโทบาโก, เตอร์เกีย, เติร์กเมนิสถาน และเวียดนาม
สร้างความผิดหวังให้กับ “กระทรวงพาณิชย์” ที่หวังว่า ปีนี้สถานะไทยจะดีขึ้นหรือหลุดพ้นออกจากการจัดสถานะเสียที หลังจากติดอยู่ใน “บ่วงกรรม” มานานหลายสิบปีแล้ว
ทั้งๆที่รู้ดีว่า ไม่มีทางที่สหรัฐฯจะปล่อยไทยหลุดมือ!! แม้ไทยพยายามแก้ไขกฎหมาย หรือดำเนินการต่างๆเพื่อปกป้อง คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ปราบปรามการละเมิด บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จนสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของสิทธิ์ของสหรัฐฯมากเพียงใดก็ตาม
เพราะต้องการเอาไว้ใช้ต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ดังนั้น คาดการณ์ไม่ยากว่า ไม่ว่าปีนี้ หรือปีไหนๆ ไทยก็ยังคงไม่หลุดพ้น และสหรัฐฯจะเรียกร้องให้ไทยดำเนินการต่างๆที่มากขึ้นอีก เพื่อหยุดการละเมิด
แต่เอาเถอะ!! การดำเนินการต่างๆถือเป็นเรื่องดี ที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะไทยจะปกป้อง คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ลงทุน และปราบปรามการละเมิดอย่างเต็มที่
สาเหตุที่ไทยยังอยู่ในกลุ่ม WL นั้น USTR ให้เหตุผลว่า แม้ไทยมีการพัฒนาด้านป้องกัน คุ้มครองการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมาก และบังคับใช้กฎหมายจริงจังมากขึ้น จนสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของสิทธิ์ แต่ยังมีการขายสินค้าละเมิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางออนไลน์!!
เนื่องจากมีอุปกรณ์ต่างๆ และแอปพลิเคชันที่สามารถสตรีม หรือดาวน์โหลดเนื้อหาอันมีลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต, ไทยมุ่งปราบผู้ค้าสินค้าละเมิดรายย่อยมากกว่ามุ่งปราบผู้ผลิต/จำหน่ายรายใหญ่ และไทยอาจไม่ดำเนินคดีทางอาญาอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ สหรัฐฯเรียกร้องให้ไทยแก้กฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เพราะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการแอบถ่ายหนัง, แก้ปัญหาพิจารณาคำขอจดสิทธิบัตรล่าช้า, มีระบบปกป้องที่มีประสิทธิภาพเกี่ยวกับการใช้งานเชิงพาณิชย์โดยไม่เป็นธรรม หรือเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือเปิดเผยผลการทดสอบ หรือข้อมูลทั่วไปเพื่อการเข้าสู่ตลาดของยา และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ฯลฯ
แม้ไทยไม่มีโอกาสหลุดพ้นบ่วงกรรม แต่หวังว่าสหรัฐฯคงไม่เรียกร้องผลประโยชน์จากไทยแบบเกินจริง และเป็นไปไม่ได้!!
ฟันนี่เอส
อ่านคอลัมน์ "กระจก 8 หน้า" ทั้งหมดที่นี่