ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะทำงานของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ส่งบทความ “เราจะอยู่กันอย่างไร” ในยุคที่หนี้ของประชาชนพุ่งทะยาน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเอาแต่ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ระบุว่าเป็นเวลามากกว่า 4 เดือนที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ส่งสัญญาณ ‘ทางตรง’ ไปถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5%
ขณะที่ปัญหาหนี้สินที่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่นับตั้งแต่ปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 14.2 ล้านล้านบาท หรือ 84.1% ต่อจีดีพี ต่อมาในปี 2564 หนี้พุ่งทะยานมาที่ 15.3 ล้านล้านบาท หรือ 94.6% ต่อจีดีพี ในปี 2564 ก่อนที่จะทำสถิติสูงสุด มาอยู่ที่ 16.4 ล้านล้านบาท ในปี 2566 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี 91.3% นี่คือตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงาน
หนี้พุ่ง 16.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่จีดีพี 17.9 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าประเทศเหลือใช้แค่ 1.5 ล้านล้านบาท ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือหนี้ในระบบที่สามารถตรวจสอบได้เท่านั้น ขณะที่มีการประเมินตัวเลขประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบ กว่า 5 หมื่นล้านบาท
ดังนั้นเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหาร 4 ธนาคาร หารือ หาวิธีการช่วยกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย จากนั้นวันรุ่งขึ้น คือ 24 เม.ย. 2567 สมาคมธนาคารไทยนัดถกกัน จากนั้น 25 เม.ย.2567 สมาคมธนาคารไทย ประกาศลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน ถัดมาอีกวัน 7 ธนาคารรัฐ ทั้ง ธ.ออมสิน, ธ.อาคารสงเคราะห์, SME Bank, ธ.ก.ส., บสย., ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, Exim Bank และล่าสุดกับธนาคารกรุงเทพ ประกาศลดดอกเบี้ยเช่นกันเริ่ม 1 พ.ค.นี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับการลดดอกเบี้ย หลายคนมองว่าไม่ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง แต่กับคนผ่อนบ้านย่อมรู้ดี
การลดดอกเบี้ย ได้ทำให้ประชาชนได้หายใจบ้าง เพราะการลดดอกเบี้ย ทำให้เงินต้นของหนี้สิน ได้ลดลงไปบ้าง การลดดอกเบี้ย จึงไม่ใช่แค่ส่งผลต่อจำนวนเงินในกระเป๋า หรือหนี้ที่ลดลงเท่านั้น ยังส่งผลต่อ “พลังใจ” ที่ประชาชน พ่อค้า แม่ขาย พี่น้องเกษตรกร คนทำมาหากิน มนุษย์เงินเดือนได้มีแรงขับเคลื่อนสู้ต่อ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่