พรุ่งนี้ 1 พ.ค. นอกจากจะเป็นวันหยุด วันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567 ของเหล่าผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ อีกประเด็นที่น่าจับตามอง คือ การย้ำชัดของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการแรงงาน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ว่าจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ ให้เหล่าพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ตามนโยบายหาเสียงของรัฐบาล
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ประกาศ ปรับขึ้นค่าจ้าง งวดใหม่ นำร่องไปแล้ว ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ (กลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป) 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง
ขณะ วันที่ 14 พ.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง และคาดว่าจะประกาศใช้ ค่าจ้างอัตราใหม่ ในทุกประเภทธุรกิจ ได้ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567
สำหรับ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในปีแรก และมีเป้าหมายปรับขึ้นจนถึง 600 บาท/วัน ให้ได้ภายในปี 2570
โดยเมื่อ 1 ม.ค. 2567 ได้มีปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 1 ครั้ง อัตราค่าจ้างต่อวัน อยู่ระหว่าง 330-370 บาท ซึ่งแบ่งตามพื้นที่ ไม่เท่ากันทุกจังหวัด ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ที่ประกอบด้วยฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ
ท่ามกลางการขอให้ทบทวนมติดังกล่าว ของนายกรัฐมนตรี ให้เป็น 400 บาททั่วประเทศ ขณะกระทรวงแรงงาน ย้ำ แรงงานเป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจสังคมไทย
ต้องได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่เหมาะสม แม้จะเกิดข้อถกเถียง ไม่สอดคล้องกับฝั่งเอกชนที่เป็นนายจ้าง ว่าการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรง ปลายทางคือ ผลกระทบต่อประชาชน เพราะเศรษฐกิจ รวมถึง ภาคธุรกิจ ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ล่าสุด มีผลสำรวจออกมา ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในมุมมองของ ภาคเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการต่อ นโยบายปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ว่า แม้ เห็นด้วย ว่าการเพิ่มค่าจ้างให้กับแรงงาน จะช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้เพิ่มขึ้น ช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้นตามไปด้วย
แต่อาจสร้างผลกระทบในแง่ต้นทุนธุรกิจ ตามมา โดยนายจ้าง เกือบ 60% ระบุ อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าราว 15% ขณะกว่า 17% ระบุ เมื่อต้นทุนสูง หากไม่เพิ่มราคาสินค้า อาจต้องใช้ทางเลือก ในการลดไซส์ หรือ ลดขนาดของสินค้าลง โดย ผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม ณ ขณะนี้ โดยค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวันเท่านั้น
เจาะในมุมมองของนักวิชาการ อย่าง “ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ระบุ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้น ในการปฏิรูประบบแรงงานให้สอดรับกับพลวัตตลาดแรงงาน การเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานและทุนด้วยการลงทุนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งและควรเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับ 40%
จึงจะสามารถทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปอยู่ในระดับ 5% หากสามารถรักษาระดับการเติบโตได้เช่นนี้ประมาณ 13 ปี ไทยก็น่าจะก้าวข้ามพ้นกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลางไปได้ โดยการเพิ่มผลิตภาพทั้งทุนและแรงงานเป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจระยะยาว
โอกาสนี้ #ThairathMoney พาย้อนไทม์ไลน์ ลุ้นเส้นทาง สู่ การปรับขึ้น “ค่าแรง 400 บาท” ทั่วประเทศ ดังนี้
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney