เป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ไปต่อ หลังเมื่อวันที่ 10 เม.ย 2567 คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท มีมติเห็นชอบหลักการ โครงการฯ โดยจะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าเข้าร่วมโครงการภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4
ล่าสุดวันนี้ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว
โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ซึ่งเป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท ซึ่งจะได้รับเงิน ผ่านแอปพลิเคชันที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนา นำไปซื้อสินค้าได้ทุกประเภท (ยกเว้นอบายมุข บริการ น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าออนไลน์) จากร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ภายในอำเภอ (รวมร้านสะดวกซื้อ Standalone และในปั๊มน้ำมัน)
สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะช่วยเติมเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะทำให้ GDP โตประมาณ 1.2-1.8% จากกรณีฐาน
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า สามารถใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก ที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และต้องเป็นการจ่ายเงินแบบพบหน้า (Face to Face)
2. ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้า (Negative List) ซึ่งได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้
ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT)
ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 จึงต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569