จับทิศทางค่าเงินทะลุ 37 บาท อ่อนค่าสุดรอบ 6 เดือน กลางสงครามและเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไทยกระทบแค่ไหน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับทิศทางค่าเงินทะลุ 37 บาท อ่อนค่าสุดรอบ 6 เดือน กลางสงครามและเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไทยกระทบแค่ไหน

Date Time: 22 เม.ย. 2567 18:14 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 6 เดือน Thairath Money ชวนส่องแนวโน้มค่าเงินบาท จะอ่อนค่ามากแค่ไหน กระทบเศรษฐกิจอย่างไร ท่ามกลางสงครามตะวันออกกลางเดือด ดันเงินเฟ้อพุ่ง กดดันเฟดชะลอลดดอกเบี้ย

Latest


“เงินบาทอ่อนค่า” กลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องติดตามสำหรับเศรษฐกิจไทยในวันนี้ เนื่องจากส่งผลต่อค่าครองชีพจากราคาพลังงาน และต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่แพงขึ้น ท่ามกลางภาวะสงครามในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากอิสราเอลยิงขีปนาวุธโจมตีกลับอิหร่าน เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกผันผวนอย่างหนัก โดยดัชนีตลาดโลก ปรับตัวลดลง 3-4% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นในระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก่อนจะลดลง ด้านราคาสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างทองคำแตะระดับ 2,400 ดอลลาร์ต่อทรอยซ์ออนซ์ ส่วนดัชนีค่าเงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทด้วย

ล่าสุดวันนี้ (22 เม.ย. 2567) เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ โดยทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 6 เดือน จากราคาทองคำ ตลาดโลกที่ร่วงลงแรง และทิศทางของเงินดอลลาร์ ที่มีแรงหนุนจากการเป็นสกุลเงินปลอดภัย

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย กับ Thairath Money ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทระยะสั้นช่วง 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนนี้ จะเห็นทิศทางการอ่อนค่ามากกว่าระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องด้วยมีหลายปัจจัยหนุนดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดของภาวะสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งหากยืดเยื้อจะยิ่งเสริมแกร่งสถานะ การเป็นสกุลเงินปลอดภัยของดอลลาร์ โดยเป็นปัจจัย สนับสนุนเพิ่มเติม จากแนวโน้มที่เฟดชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น โดยตลาดมองว่าจะมีการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 

ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่ประคองให้เงินบาทไม่อ่อนค่าเร็วเกินไป คือ ราคาทองคำใน ตลาดโลก ภาวะความไม่แน่นอนของสงคราม อาจผลักดันให้ราคาทองคำขยับขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้บาทแข็งขึ้นในบางจังหวะ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจะอ่อนค่าในกรอบ 37-37.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนในช่วงที่เหลือของปี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินบาทให้กลับมาแข็งค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป

ภาคท่องเที่ยวเสาหลักค้ำเงินบาท

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ดอลลาร์แข็งค่า เงินบาทอ่อน จะเป็นธีมภาพรวมของภาวะการเงินในประเทศ เนื่องจากตลาดมองว่า เฟดชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยออกไป จากข้อมูลเงินเฟ้อที่ชะลอลงค่อนข้างช้า และตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาดการณ์

โดยค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึง 22 เม.ย. อ่อนค่าสุดในภูมิภาคที่ระดับ 7.4% แต่ในเดือนเมษายนยังเกาะกลุ่มอยู่ในระดับกลางๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากตอนนี้ตลาดเทน้ำหนักไปยังการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก 

ทั้งนี้มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลงอย่างชัดเจน ซึ่งตลาดจะมีความมั่นใจมากขึ้น เปิดทางให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้บาทกลับมาแข็งค่าได้บ้าง โดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตามการที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ จะต้องมีปัจจัยหนุนภายในที่ชัดเจน ประกอบกับปัจจัยเศรษฐกิจนอกประเทศด้วย

การที่เฟดส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนมากขึ้น จะทำให้กระแสเงินทุนที่ไหลออกเบาลง อาจมีเงินไหลกลับเข้ามาบ้าง แต่เป็นไปได้ยากที่เงินจะไหลกลับเข้ามาเยอะแบบในอดีต เพราะมีตลาดอื่นที่มีศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าไทย

สำหรับปัจจัยบวกสำคัญของค่าเงินบาท มาจากภาคการท่องเที่ยว ที่ทั้งจำนวนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเกินบัญชีดุลสะพัด ช่วยประคองไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38-39 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 37 บาทต่อดอลลาร์ เป็นจังหวะการขายดอลลาร์ของผู้ส่งออก

นอกจากนี้ยังมองว่าผลกระทบของสงครามในตะวันออกกลางจะไม่ขยายวง แต่ส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทผันผวน ดันราคาทองคำ ราคาน้ำมัน โลหะ ราคาค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้น โดยมีโอกาสขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งรวมภาคบริการยังคงเกินดุลได้อยู่ ทั้งนี้จุดกลับตัวของค่าเงินบาทจะมาจากเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอย่างชัดเจน

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ