ต้องชื่นชมการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย.2567 ที่ท้องสนามหลวง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มี “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รมว.การท่องเที่ยวฯ นั่งกำกับใกล้ชิดติดขอบเวที ทำออกมาได้สุด สนุกเหวี่ยง ครบทุกรสชาติ กลายเป็นศูนย์รวมของคนทุกวัย สร้างความยิ่งใหญ่สมคำที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ชื่นชมว่าประสบความสำเร็จ จนหลายสื่อยกให้เป็น World Class Event
“สงกรานต์ของไทยแทร่” ที่เป็นของประเทศไทย “สงกรานต์ สนามหลวง” กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ติดเทรนด์อันดับหนึ่งของ X ที่ถูกผู้คนกล่าวขวัญถึง สื่อโซเชียลทุกแขนงนำภาพความสนุกของทุกกิจกรรมที่มีพระบรมมหาราชวังเป็นฉาก มีท้องสนามหลวงแลนด์มาร์กของประเทศเป็นพื้นที่เดินเรื่อง
สร้างการรับรู้และความตื่นตัวให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แห่กันออกมาเที่ยวงานมากกว่า 3 เท่าของเป้าหมายที่วางไว้ และมีความชื่นชมต่อการจัดงานในระดับมากที่สุด สะท้อนความเป็นไทย และมรดกโลกที่ยูเนสโกยกย่องอย่างแท้จริง
“ตูน บอดี้สแลม” วงดนตรีท้ายสุดที่แสดงปิดงาน ยังโพสต์ใน IG ว่าเป็นอีกหมุดไมล์ของชีวิตที่ได้มีโอกาสเล่นดนตรีที่ท้องสนามหลวง ครั้งแรกในชีวิตนักดนตรีในนามวงบอดี้สแลม ช่วง 5 วันของการจัดงาน มีผู้เข้าร่วมงาน 784,883 คน แบ่งเป็นชาวไทย 693,288 คน ชาวต่างชาติ 91,595 คน เฉพาะงานนี้สร้างกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2,886.82 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30.72 เท่าของงบประมาณที่ใช้ไป แบ่งเป็นกระแสเงินหมุนเวียนทางตรงในงาน 951 ล้านบาท และใช้จ่ายไปยังอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ร้านอาหารเครื่องดื่ม ค่าใช้จ่ายการเดินทาง ที่พักโรงแรม ของฝากของที่ระลึก กิจกรรมบันเทิงต่างๆ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจทางอ้อม อีกกว่า 1,935 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้กับร้านค้ารายย่อย หาบเร่แผงลอยกว่า 500 ร้านค้า เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้อาชีพรับจ้างกว่า 2,000 คน
จุดเริ่มต้นของการเป็น World Class Event ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ ถูกจุดติดขึ้นมาจากความสนุกสุขครบรส และต้องยกนิ้วให้คนไทยใช้ความรู้สึกของใจที่ถวิลหา แห่มาร่วมงานอย่าง แน่นขนัด
ผนวกกับการจัดงานสงกรานต์ในพื้นที่หลักของกรุงเทพฯ อาทิ ถนนข้าวสาร ถนนพระอาทิตย์ ย่านบางลำพู ถนนราชดำเนิน ย่านสีลมเซ็นทรัลเวิลด์ อาร์ซีเอ และพื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีบรรดาบล็อกเกอร์ชื่อดังชาวต่างประเทศเข้ามาเล่นน้ำสงกรานต์ ต่างถ่ายทอดบรรยากาศความสนุกออกไปทางช่องทางต่างๆในโลกออนไลน์อย่างพร้อมเพรียงกัน จนคนรับรู้ไปทั่วโลก
จึงเชื่อว่า การจัดงานสงกรานต์ในปีต่อๆไปประเทศไทยจะเป็นหมุดหมายที่คนทั่วโลกจ้องมาเยือน และเพื่อไม่ให้เสียของ ททท.ได้จัดทำการประชาสัมพันธ์สรุปการดำเนินงานเผยแพร่โฆษณาประชาสัมพันธ์ในตลาดต่างประเทศสร้างการรับรู้ความสนุกสนานของงานสงกรานต์ร่วมกับสื่อระดับโลก โดยเผยแพร่โฆษณา TVC สงกรานต์ ความยาว 30 วินาที ผ่านสถานีโทรทัศน์ และช่องทางออนไลน์ CNN ช่วงเดือน เม.ย-พ.ค. และ BBC ในเดือน เม.ย.-มิ.ย.2567 เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม
พร้อมกับจัดทำเนื้อหาร่วมกับสถานีข่าว CNN เผยแพร่ทาง CNN Travel ชูในประเด็นต่างๆ ทั้งประวัติความเป็นมาและความหลากหลายของงานสงกรานต์ มีแนะนำเมนูอาหารเด่นในช่วงหน้าร้อน ได้แก่ ข้าวแช่ กับ ข้าวเหนียวมะม่วง
ส่วนตลาดจีนมีการเผยแพร่ประมวลภาพความสนุกสนานในช่วงสงกรานต์ ผ่าน kols ต่างประเทศ และผ่านช่องทางของอ้ายฉีอี้ ประเทศจีน
คราวนี้มาพูดถึงจุดอ่อนของการจัดงานมหาสงกรานต์ สนามหลวง กันบ้าง คำบ่นของคน มีการต่อว่า ทำไมประชาสัมพันธ์น้อย “ฟ่าน ปิงปิง” นักแสดงชื่อดังชาวจีนมาร่วมขบวนแห่ในงานวันที่ 11 เม.ย. วันแรกของการจัดงาน ทำไมไม่รู้เลย ได้รู้เมื่อเห็นคลิปขบวนแห่ที่จบไปเมื่อวานแล้ว มุมของคนที่หลบไปเที่ยวต่างจังหวัดก็คาใจ ทำไมสนุกขนาดนี้มีนักดนตรีระดับท็อปมาหมดและเป็นฟรีคอนเสิร์ต ทำไมไม่รู้ก่อนเลย จะกลับกรุงเทพฯก็ไม่ทันแล้ว
เท่าที่ทราบงานนี้ถูกออกาไนซ์ในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์เท ก่อนเริ่มงานไม่กี่วัน ททท.ต้องรีบมาแบกรับ เร่งจัดหาออกาไนซ์ใหม่แบบเร่งด่วน “แพทองธาร ชินวัตร” หัวเรือใหญ่ของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ก็ออกมาขอบคุณ ททท.ที่ช่วยจัดงานปีนี้ให้ผ่านไปให้ก่อน
ระหว่างช่วงสงกรานต์ กระแสปรับคณะรัฐมนตรีก็ลอยมา จะสลับสับเปลี่ยน “สุดาวรรณ” ไปอยู่กระทรวงวัฒนธรรม ให้ “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” มากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บรรดานักข่าวที่ตามติดกระทรวงการท่องเที่ยวฯถึงกับร้องโอดโอย “สุดาวรรณ” เริ่มทำงานเข้าฝักแล้ว ต้องให้คนใหม่มาเริ่มเรียนรู้งานอีกหรือ
นายกฯเศรษฐาก็ชื่นชม “สุดาวรรณ” แล้ว คงเหลือก็แต่นายใหญ่จะให้โอกาสนั่งที่เดิมหรือเปล่า?.
อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม