ดอนเมือง ขวัญใจสายการบินต้นทุนต่ำ ติด Top 10 สนามบินดีที่สุดในโลก สุวรรณภูมิขยับขึ้นสู่อันดับ 58

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ดอนเมือง ขวัญใจสายการบินต้นทุนต่ำ ติด Top 10 สนามบินดีที่สุดในโลก สุวรรณภูมิขยับขึ้นสู่อันดับ 58

Date Time: 18 เม.ย. 2567 15:03 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Latest


สนามบินของไทยกำลังได้รับความสนใจและรับการยกย่องจากต่างชาติอีกครั้ง โดยล่าสุด เว็บไซต์ Skytrax ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับการให้บริการของสนามบิน ได้ประกาศสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ประจำปี 2024 ได้จัดอันดับให้สนามบินสุวรรณภูมิ ทะยานขึ้นสู่อันดับ 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ด้านสนามบินดอนเมืองติดอันดับ 10 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก ผลจากคุณภาพการให้บริการและความสะดวกสบายของผู้โดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบิน 

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า เว็บไซต์ Skytrax ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับการให้บริการของสนามบิน ได้ประกาศสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ประจำปี 2024 ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ติดอันดับที่ 58 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 68 โดยขึ้นมา 10 อันดับจากปี 2023 

ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ติดอันดับ 10 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) ซึ่งผลการจัดอันดับดังกล่าวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เดินทางด้วยเครื่องบินทั่วโลก ภายใต้การสำรวจที่ชื่อว่า World’s Airport Survey จัดทำโดยบริษัท Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการบินชั้นนำของประเทศอังกฤษ ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์คุณภาพการให้บริการของสายการบินและสนามบินทั่วโลก โดยคำนึงถึงหมวดการให้บริการสนามบิน เช่น การเดินทาง สภาพแวดล้อมและการออกแบบ เจ้าหน้าที่สนามบิน สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการ เป็นต้น

AOT มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและผลักดันให้บริการท่าอากาศยานเพื่อให้ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT เป็นท่าอากาศยานที่มีมาตรฐานสากล มีความสะดวกสบาย ผู้โดยสารได้รับการบริการที่รวดเร็วและปลอดภัย โดยอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ทสภ.ได้รับการประเมิน 4 ดาว จากด้านสถาปัตยกรรม ความสะอาด บรรยากาศโดยรวม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร 

อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากสายการบินในการใช้เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ  (Common Use Self Service: CUSS) เครื่องโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) และระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger  Validation System: PVS) นอกจากนี้ ทสภ.ได้มีการปรับปรุงกระบวนการ ณ จุดตรวจค้น และเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจหนังสือเดินทาง ทำให้สามารถลดระยะเวลารอของผู้ใช้บริการลง 

โดยระยะเวลาการใช้บริการในกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 26 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 40 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 37 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 55 นาทีต่อคน) ขณะที่กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 35 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 25 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 40 นาทีต่อคน) สำหรับ ทดม.มีให้บริการด้วยการใช้เทคโนโลยี ทำให้การเดินทางปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระบบ CUSS CUBD SBG และ PVS ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอคิวนาน ตามคอนเซปต์ “Fast and Hassle Free Airport”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายการผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี ซึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ