คลังปิดช่องทางเลี่ยงภาษี ปรับเกณฑ์ให้เข้มข้นรีดทายาทผู้รับมรดก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังปิดช่องทางเลี่ยงภาษี ปรับเกณฑ์ให้เข้มข้นรีดทายาทผู้รับมรดก

Date Time: 18 เม.ย. 2567 06:10 น.

Summary

  • คลังทบทวนเก็บภาษีมรดกต้องปรับเกณฑ์ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อปิดช่องเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทเก็บ 10% แต่มีวิธีเลี่ยงง่ายๆ ไม่ต้องเสียภาษีสักบาท รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆที่มีความลักลั่นให้ผู้รับมรดกไม่ต้องจ่ายภาษี

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างทบทวนแนวทางการจัดเก็บภาษีมรดกใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายมาตั้งแต่ปี 2558 แต่การจัดเก็บภาษีดังกล่าวยังทำได้ไม่มากนัก เนื่องจากมีบางเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นที่ทำให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น การจัดเก็บภาษีมรดกเฉพาะในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท อาจต้องดูให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้น

“ต้องยอมรับว่า ยังเก็บภาษีไม่ได้มากนัก เพราะเป็นภาษีชนิดใหม่ ซึ่งในช่วงแรกกระทรวงการคลัง ไม่อยากเข้มงวดมากเกินไป โดยเฉพาะเงื่อนไขและข้อยกเว้นต่างๆที่อยู่ในภาษีมรดกที่ผ่อนปรนในระยะแรก และหากจะบังคับใช้เข้มงวดขึ้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดเก็บภาษีมรดก เป็นการจัดเก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับ ซึ่งผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี หลังจากประกาศบังคับใช้จนถึงปัจจุบันจัดเก็บรายได้ราว 3,600 ล้านบาท สำหรับภาษีมรดก ปัจจุบันเก็บที่ 10% ของมูลค่าสินทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขยกเว้น อาทิ การจัดเก็บภาษีจะเก็บเฉพาะมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อคน ทำให้กลายเป็นช่องที่หลีกเลี่ยงภาษีได้ อาทิ บิดาเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 2 คน คนละ 100 ล้านบาท และญาติอีกคน 100 ล้านบาท เท่ากับว่ามรดกดังกล่าวจะไม่มีภาระภาษีเลย เนื่องจากได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีความลักลั่นในการเสียภาษีสำหรับผู้รับมรดกต่างๆ โดยมรดกที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องเพชร พลอย ของสะสมของโบราณ และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้เกิดการเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สินเป็นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เช่น เปลี่ยนเป็นเงินสด ทองคำ หรือเครื่องเพชร แทนได้

ขณะที่ข้อยกเว้นการเสียภาษีมรดกอื่นๆ อาทิ เจ้าของมรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณ ประโยชน์ หรือหน่วยงานรัฐ และนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หรือบุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศ ไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะไม่เสียภาษี

ทั้งนี้ อัตราภาษีมรดกของไทยถือว่าต่ำกว่าหลายๆประเทศที่จัดเก็บ โดยหลายๆประเทศในโลกที่มีการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งส่วนใหญ่เก็บภาษีจากการรับมรดกควบคู่กับภาษีการให้นั้น เก็บในอัตราที่สูงกว่าประเทศไทยมาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 10-70%, ฝรั่งเศส 35% กรณีเป็นทายาทสายตรง แต่ถ้าไม่ใช่ญาติ จัดเก็บอัตรา 60%, เกาหลีใต้ 10-50%, ส่วนสิงคโปร์ใช้วิธีการจัดเก็บจากกองมรดก ในอัตราก้าวหน้า 5-10%, ไต้หวัน เก็บจากกองมรดก และภาษีการให้ โดยภาษีกองมรดกจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 2-50% และภาษีการให้ อัตราก้าวหน้า 4-50%

อย่างไรก็ดี เหตุผลของการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น ไม่ใช่เพื่อต้องการรายได้เข้ารัฐบาล แต่เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และการกระจายรายได้ เนื่องจากทรัพย์สินที่พอกพูนขึ้นจนเป็นมรดกนั้น เกิดขึ้นจากการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่รัฐได้ลงทุนในประเทศ จึงมีภาระที่สมควรที่ผู้ได้รับมรดกควรมีภาระต้องจ่ายคืนให้รัฐ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ