เลิกอุ้มถ่ายทอดสดบอลโลก บอร์ด กสทช.ตัดฉับหยุดให้เงินซื้อลิขสิทธิ์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เลิกอุ้มถ่ายทอดสดบอลโลก บอร์ด กสทช.ตัดฉับหยุดให้เงินซื้อลิขสิทธิ์

Date Time: 3 เม.ย. 2567 08:33 น.

Summary

  • บอร์ด กสทช.ฟันธง ตัดการแข่งขันฟุตบอลโลกออกจากรายการกีฬาที่ต้องมีการถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ชมอย่างทั่วถึงภายใต้กฎมัสต์แฮฟ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดแล้วแต่เอกชนไทยจะสนใจซื้อมาถ่ายทอดสดหรือไม่ ปลดแอกเลิกใช้เงินกองทุน กทปส.สนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์

Latest

แก้ปมขายตรง-แชร์ลูกโซ่ คลังแย้มอยากให้ดีเอสไอดูแล กฎหมายฉ้อโกงแทน

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวหลังการประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ระบุ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 7 : 0 ให้แก้ไขภาคผนวกของประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือประกาศมัสต์แฮฟ (Must Have) โดยให้ตัดรายการฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจากรายการกีฬา 7 ประเภท ประกอบด้วย 1.การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2.การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games) 3.การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) 4.การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games) 5.การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games) 6.การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games) และ 7.การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games) ซึ่งจะทำให้ภาครัฐไม่ต้องใช้เงินสนับสนุน ให้มีการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในประเทศไทยอีกต่อไป เพื่อปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยเอกชนไทยจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดสดนั้น คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่

ด้าน น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า การตัดสินใจของ บอร์ด กสทช. ไม่ได้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่มีมติให้ยกเลิกประกาศมัสต์แฮฟ ทั้งฉบับ โดยหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหรือ Public Hearing แล้ว พบว่ามีความเห็นที่หลากหลายและยังต้องการให้คงประกาศมัสต์แฮฟเอาไว้ อย่างไรก็ตามบอร์ด กสทช. เห็นควรตัดรายการฟุตบอลโลกออกไปในที่สุด เนื่องจากเห็นว่าทีมฟุตบอลไทยยังไม่เคยเข้าสู่รอบ 32 ทีมสุดท้าย ต่างจากรายการกีฬาอีก 6 รายการที่เหลือ มีทีมนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขัน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในประเทศ สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รวมทั้งสามารถสร้างอัตลักษณ์ของชาติได้อย่างชัดเจน จึงเห็นควรกำหนดให้ต้องมีการถ่ายทอดสดกีฬาทั้ง 6 ประเภทต่อไป ขณะที่ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง เปิดเผยว่า ในกรณีฟุตบอลโลกนั้น หากมีเอกชนไทยเข้าประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ภายใต้เงื่อนไขของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ กำหนดให้เจ้าของสิทธิ์ในประเทศนั้นๆ ต้องยอมให้มีการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีหรือโทรทัศน์ระบบภาคพื้นดินทั้งสิ้น 200 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้คนไทยมีโอกาสรับชมการแข่งขันได้บางแมตช์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การริเริ่มยกเลิกประกาศมัสต์แฮฟเริ่มต้นขึ้น หลังหลายปีที่ผ่านมา บอร์ด กสทช.ต้องอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน กทปส. เพื่อช่วยในการประมูลซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดให้กับคนไทยได้ชม ตามคำบัญชาจากฝั่งรัฐบาล โดยฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมาสมัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านการกีฬา ขอเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท ท่ามกลางคำถามที่บอร์ด กสทช.ต้องถกกันอย่างกว้างขวาง อาทิ ทีมไทยไม่เคยเข้ารอบ 32 ทีม เหตุใดต้องให้เงินสนับสนุนการรับชม ขณะที่เงินกองทุน กทปส.นั้น ตามเงื่อนไขต้องสร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมสำหรับผู้ที่ขาดโอกาส และยังต้องถกกันด้วยว่าฟุตบอลโลกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่ ส่วนในฝั่งเอกชนไทย พบไม่คุ้มค่าในการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสด เพราะขายโฆษณาไม่คุ้ม แถมยังต้องยอมให้นำรายการแข่งขันออกอากาศผ่านฟรีทีวีทุกช่องตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ปี 2556 หรือประกาศมัสต์แครี่ (Must Carry) ด้วย.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ