นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงคมนาคมว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดใน กทม.ชั้นใน รวมถึงจราจรหนาแน่นหน้าด่านทางด่วน เนื่องจากปัจจุบันมีสัญญาสัมปทานบริหารทางพิเศษจำนวนมาก รวมทั้งยังมีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางหลายจุดในเส้นทางต่อเนื่อง ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หารือร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อช่วยลดปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้ทาง ด้วยการหาวิธีที่จะลดค่าทางด่วนลง ซึ่งแนวทางดังกล่าวให้ทั้งสองหน่วยงานหารือว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หรือหากลดค่าทางด่วนแล้ว กระทบต่อผู้รับสัมปทานก็ให้พิจารณาขยายสัญญาสัมปทานจากเดิมออกไป เชื่อว่าภายใน 2 เดือนนี้จะได้ข้อสรุปเป็นรูปธรรม
“ปัญหาตอนนี้ คือประชาชนมีภาระมากจากค่าผ่านทางที่มีหลายด่าน โดยเฉพาะการเดินทางในระยะทางที่ไกลก็มีค่าผ่านทางสูงสุดถึง 165 บาท ทั้งนี้ ปัจจุบันทางพิเศษพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทพ. โดยมีรวม 7 เส้นทาง แบ่งเป็น การบริหารโดย กทพ.รวม 4 เส้นทาง และการบริหารโดยสัญญาสัมปทาน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษประจิมรัถยา (ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่