นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบการปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2567-2571) โดยให้ ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 เพิ่มขึ้นอีก 152,700 ล้านบาท จากเดิมที่มีการขาดดุล 713,000 ล้านบาท รวมเป็นการขาดดุลงบประมาณ 865,700 ล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้วงเงินงบประมาณปี 68 ปรับเพิ่มเป็น 3.7257 ล้านล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 3.6 ล้านล้านบาท ส่วนแหล่งเงินทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กำลังหารือกับคณะอนุกรรมการฯเพื่อให้ได้ข้อสรุปทัน 10 เม.ย.นี้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าการขยายกรอบงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติม มีนัยสำคัญอะไรหรือไม่และนำไปทำโครงการอะไรนายจุลพันธ์ตอบว่า “เดาไม่ได้จริงๆเหรอ ไม่รู้จริงๆเหรอ”
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การปรับกรอบการคลังระยะปานกลางเนื่องจากขณะนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าการเติบโตตามศักยภาพสะท้อนจากจีดีพีปี 67 ขยายตัวที่ 2.7% และไตรมาส 4 ปี 66 จีดีพีหดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 66 ประกอบกับเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาทั้งภายนอกและภายในประเทศ เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐ ศาสตร์ ปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจช่วงต้นปี 67 ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงจนกระทบการบริโภค เป็นต้น “รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยและสูงกว่าอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ และเพื่อให้มีแผนการคลังระยะปานกลางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ เมื่อถามว่า ต้องการเม็ดเงินไปใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ใช่หรือไม่ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ในแผนการคลังระยะปานกลางพูดถึงแต่การปรับกรอบเท่านั้น
ทั้งนี้ มีรายละเอียดดังนี้ ปี 68 กรอบงบประมาณรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท ขาดดุล 865,700 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 66.93% ปี 69 งบประมาณรายจ่าย 3,743,000 ล้านบาท ขาดดุล 703,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะ 67.53% ต่อจีดีพี ปี 70 งบประมาณรายจ่าย 3,897,000 ล้านบาท ขาดดุล 693,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะ 67.57% และปี 71 รายจ่าย 4,077,000 ล้านบาท ขาดดุล 683,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 67.05% ส่วนดุลการคลังต่อจีดีพีที่มีการปรับขึ้นไปสูงถึงระดับ 4.42% ในปี 68 จะค่อยๆปรับลดลงจนมาอยู่ในระดับ 3% ตามกรอบความยั่งยืนการคลังที่กำหนดไว้ ได้ภายในปี 71 “ตอนนี้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคือต้องทำให้จีดีพีโต หลังการขาดดุลงบปี 68 เพิ่มขึ้น ตัวเลขในปีต่อๆไปก็จะลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเมื่อเศรษฐกิจเติบโต หนี้สาธารณะต่อจีดีพีบางปีจะไม่เพิ่มขึ้น หรืออาจลดลง ตอนนี้ต้องทำให้จีดีพีโตก่อน เป้าหมายคือต้องโตไม่ต่ำกว่าปีละ 3%”
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาใช้พื้นที่ทางการคลังหรือ Fiscal Space เพิ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งพื้นที่ทางการคลังนั้น คำนวณจากสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศซึ่งอยู่ที่ 62-63% ของจีดีพี ทำให้มีพื้นที่ที่ทางการคลังเหลืออยู่ 7-8% ของจีดีพี ตามกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไทยโตเพียง 2% หากปล่อยให้โตเพียง 2% ไปเรื่อยๆ กำลังซื้อคนระดับฐานรากจะได้รับผลกระทบ และกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ ปัญหาจะวนไปแบบนี้ เพราะหากเศรษฐกิจดี ประชาชนกินดีอยู่ดี มีกำลังซื้อ รัฐก็จะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น “การเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เป็นนโยบายการคลัง เพื่อรองรับวิกฤติในอนาคต วันนี้เศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ หากไม่ดำเนินการใดๆ เศรษฐกิจไทยจะโตแค่ 1.5% การนำพื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่ 7-8% มาใช้จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะเพียง 7-8% หากเกิดวิกฤติขึ้นมาจริง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้”
นายลวรณกล่าวว่า มีคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ คาดว่ามีหลายโครงการที่จะใช้จ่ายไม่เต็มวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ เพราะมีเวลาใช้เงินเพียง 5 เดือน ดังนั้นจะโยกวงเงินที่เหลือมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นวิธีบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด “การโยกเงินที่ใช้ไม่หมดของงบปี 67 เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการเงิน นอกเหนือจากการเพิ่มวงเงินขาดดุลงบฯปี 68 อีก 150,000 ล้านบาท”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่