ประเทศไทยกำลังเคลื่อนสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ในการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต การค้า และบริการด้วยการร่นเวลา และใช้แรงงานน้อยลง “แต่ได้ผลผลิตสูง” เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
โดยเฉพาะการก้าวกระโดด “ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) บวกกับควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing)” ที่จะเข้ามาพลิกผันธุรกิจอุตสาหกรรมให้ประมวลผลรวดเร็วมีประสิทธิภาพขึ้นอีก
เรื่องนี้ถูกเสนอในงานวิชาการเศรษฐกิจดิจิทัล : โอกาส ความเสี่ยง ความสามารถการแข่งขัน โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย พูดหัวข้อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Generative AI & Quantum Computing : ผลต่อธุรกิจ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม ว่า
เทคโนโลยีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และชีวิตคนในอนาคตมาก โดยเฉพาะสภาวะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี “ทุนมนุษย์จึงมีความสำคัญ” ที่เป็นแรงดันช่วยเสริมสร้างศักยภาพ
แต่สำหรับ “เทคโนโลยี Generative AI และ Quantum Computing” แม้คนอยู่ในวงเทคโนโลยี หรือทางด้านฟิสิกส์ก็ไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด โดย เฉพาะ Quantum Computing ที่ขณะนี้บริษัทยักษ์เข้ามาลงทุนเพื่อนำมา ใช้งานในอนาคตอันใกล้ อันจะทำให้การประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพดีขึ้นไปอีก
เช่นเดียวกับ “ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI)” ที่กำลังพัฒนามาเป็น Artificial General Intelligence (AGI) ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสมัยก่อนเวลาเราจะใช้ AI ต้องออกแบบโปรแกรมให้มีความสามารถเฉพาะทาง แต่ปัจจุบันนี้กลับพัฒนา AI ให้ทำงานใกล้เคียงมนุษย์มากยิ่งขึ้น
สิ่งนี้มีแนวโน้มเกิดผลต่อ “ธุรกิจ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคม” สามารถแยกได้คือ “Generative AI” จะทำให้ผลิตภาพระบบเศรษฐกิจ และธุรกิจอุตสาหกรรมดีขึ้น “ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวกว่าเดิม” จากผลิตภาพด้วยการใช้แรงงานมนุษย์น้อยลง และทำลายขีดจำกัดของสมองมนุษย์
ดังนั้น การลงทุนทางด้าน Generative AI และ Quantum Computing หรือ Artificial General Intelligence (AGI) อาจจะเกิดอาชีพงานใหม่ โมเดลทางธุรกิจใหม่ และรายได้ใหม่ๆ ทำลายระบบเก่าด้วยเทคโนโลยีจะเข้ามา ทดแทนแรงงานมนุษย์ทำให้เกิดการว่างงานมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
“สิ่งสำคัญยังจะต้องเผชิญกับปัญหาความไม่โปร่งใส และปัญหาความ มั่นคง อันจะก่อให้เกิดการสร้างการกีดกันความเหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหาการใช้เทคโนโลยีอย่างขาดจริยธรรม ทำให้เกิดปัญหาการกำกับควบคุมจนส่งผลให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และจะนำไปใช้ในกิจการสงครามการทำลายล้างได้” รศ.ดร.อนุสรณ์ว่า
ฉะนั้น ถ้าเจาะลงดู “Generative AI และ Quantum Computing ในอนาคต” จะเป็นสิ่งที่เข้ามาพลิกโฉมโลก และชีวิตมนุษย์มากยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ เมื่อเรามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน ทั้งยังจะพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจ และระบบธุรกิจได้มากพอสมควร
แถมจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมบันเทิง การสื่อสาร การเงิน การออกแบบระบบการเมือง และวิถีชีวิตผู้คนมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว “สามารถทำงานแทนมนุษย์ในการคิดสร้างสรรค์ได้หลายอย่าง” ดังนั้นตอนนี้เราต้องวางแผนพัฒนาทักษะแรงงานแบบใดจะสอดรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ให้ได้
เพราะด้วย “ผลิตภาพ (Productivity) เติบโตอย่างก้าวกระโดด” ทำให้เราทำงานน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากกว่าเดิมแล้ว Generative AI และ Quantum Computing จะเข้ามาทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้แทบจะทุกสาขาวิชา รวมทั้งทำในสิ่งที่ศักยภาพของสมองมนุษย์ไม่สามารถทำได้ด้วยซ้ำ
ตอกย้ำจากงานวิจัย “Generative AI และ AGI” จะเปลี่ยนกายวิภาคของงานเสริมศักยภาพการทำงานของแรงงานมนุษย์ที่สามารถประหยัดเวลาในการทำงานของแรงงานมนุษย์ได้ไม่ต่ำกว่า 60-70% เช่นนี้ทำให้คาดว่าตำแหน่งงานในตลาดแรงงานทั้งหมดครึ่งหนึ่งประมาณ 50% จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติในปี ค.ศ.2045
เรื่องนี้ทำให้ “แรงงานรุ่นใหม่จำเป็นต้องตระหนักถึงทักษะในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร...?” ในโลกที่ปัญญาประดิษฐ์กำลังเริ่มมีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วยิ่ง Generative AI กำลังจะผนวกเข้ากับเทคโนโลยีการผลิตจะให้อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.5-3.4% ต่อปี
ประการต่อมา “ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาให้ใกล้เคียงมนุษย์ (AGI) และปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (Generative AI)” จะนำไปสู่อุปทานส่วนเกินจำนวนมากของงานสร้างสรรค์ ทำให้งานด้านสร้างสรรค์จะออกมาเยอะมาก นำไปสู่การลดลง “อุปสงค์ต่อแรงงานสร้างสรรค์ของมนุษย์” อย่างชัดเจนในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า
ขณะที่การผลิต หรือบริการอาศัยแรงงานมนุษย์จะมีคุณค่าในตลาดเจาะจง และผลิตภาพที่สูงขึ้นลดระดับราคาสินค้าจำเป็นเปลี่ยนแปลงพลวัตทางเศรษฐกิจเคลื่อนสู่การเป็น Hyper Capitalism ขึ้นพร้อมเงินเฟ้อที่ต่ำ
ทำให้หลายประเทศเริ่มคิดถึงระบบ Universal Basic Income เพื่อรองรับแรงงานมนุษย์ส่วนเกินให้ดำรงชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่าง “ยุโรปเหนือ” ทดลองใช้มาตรการนี้ก็ได้ผลเชิงบวกดีขึ้น แต่ใช่ว่าทุกประเทศจะทำระบบ Universal Basic Income ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นประเทศพร้อมทางเศรษฐกิจ และจัดการด้านนโยบายที่ดีที่ทำได้
แต่ปัญญาประดิษฐ์พัฒนาให้ใกล้เคียงมนุษย์ (AGI) ทำให้เกิดความจำเป็นต้องปฏิรูปปรับเปลี่ยนระบบประกันสังคม ระบบความมั่นคง และความปลอดภัยของแรงงาน ทำให้มีข้อถกเถียงเรื่องภาษี หุ่นยนต์ และ AI เกิดขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น บางประเทศมีการเก็บภาษีเพื่อมาใช้สำหรับสวัสดิการแรงงาน
บางประเทศไม่เก็บเพราะเห็นว่าเป็นการลดแรงจูงใจการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อีกซีกโลกอย่าง “เกาหลีใต้” เก็บภาษีหุ่นยนต์นำเงินไปใช้จ่ายอันเป็นประโยชน์จากผลกระทบในการใช้เทคโนโลยี ขณะที่ “จีน” ใช้รูปแบบรัฐนำ State-led Approach (China) แบบไหนทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีกว่า
ในส่วน “การเตรียมความพร้อมต่อ Al Economic Transformation” เรื่องนี้ IMF ได้พัฒนาดัชนี AI Prepared Index เพื่อวัดความพร้อมในมิติต่างๆต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Economy และ AI Economic Transformation เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล นโยบาย และการเตรียมพร้อมทางด้านทักษะแรงงาน
นวัตกรรมและการบูรณาการทางเศรษฐกิจ สัดส่วนของแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมหลังจาก IMF ใช้ดัชนี AI Prepared Index ศึกษา 125 ประเทศ พบว่า ประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศรายได้ปานกลางสามารถรองรับการใช้ AI ในระบบเศรษฐกิจได้ดี เช่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเดนมาร์ก มีค่าของดัชนีความพร้อมต่อ AI สูงสุด
ส่วนประเทศรายได้ต่ำในจำนวนนี้ “ประเทศไทย” ต้องหาทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล และทักษะแรงงานทางดิจิทัล แล้วในปี ค.ศ.2030 “จะเกิดอาชีพใหม่” อันจะเกี่ยวข้องกับ AI มากมาย สิ่งเหล่านี้ในมหาวิทยาลัยไทยกลับยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่มักต้องไปเรียนรู้จากการทำงานจริงๆ
ปัญหาข้อกังวลคาดการณ์หาก “AI เหนือกว่ามนุษย์” อาจทำให้มนุษย์อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากเกิดภาวะ Intelligence Explosion โดย AI จะมีศักยภาพที่เหนือกว่ามนุษย์ทุกด้านภายในปี ค.ศ. 2030-2035 ในการพัฒนาระบบประมวลผลผ่านชิป และคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นในอัตราเร่ง
ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดใช้เวลาไม่กี่ทศวรรษจะส่งผลให้ “ชิปคอมพิวเตอร์ฉลาดเท่ามนุษย์ที่มี IQ 10,000” แล้วสมองมนุษย์ในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบกับ AI แม้นสมองมนุษย์จะมีพัฒนาการเหนือกว่าสัตว์ทุกประเภท แต่ไม่สามารถสู้ Generative AI ได้
สิ่งนี้คือการพัฒนาในอนาคต “ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ที่จะเข้ามาทำงานแทนแรงงานมนุษย์สร้างการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจทั่วโลก “ไม่แน่ว่าคนรุ่นใหม่อาจตกงาน” ถ้าไม่สามารถพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม