นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ประเทศต่างๆทั่วโลกช่วงต้นปี 67 จัดทำโดย Numbeo เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่สำรวจค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) จากหน่วยงานภาครัฐ ซุปเปอร์มาร์เกต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งใช้เป็นฐานอยู่ที่ 100% นั้น พบว่าดัชนีค่าครองชีพของไทยอยู่ที่ 36.0% อยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก และต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก โดยลดลงจาก 40.7% หรืออยู่อันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลกในปี 66
เมื่อพิจารณาเฉพาะอาเซียนพบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทยสูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยสูงกว่าฟิลิปปินส์ที่อยู่ที่ 33.6% อันดับ 104, เวียดนาม 30.8% อันดับ 113, มาเลเซีย 30.5% อันดับ 115 และอินโดนีเซีย 28.5% อันดับ 126 แต่ต่ำกว่ากัมพูชา 38.5% อันดับ 88, เมียนมา 38.6% อันดับ 87, บรูไน 50.5% อันดับ 48 และสิงคโปร์ 81.9% สูงสุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก สาเหตุที่ดัชนีค่าครองชีพไทยต้นปี 67 ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลง จากมาตรการช่วยค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งค่าไฟน้ำมันแก๊สหุงต้ม เป็นต้น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่