นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายก รัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบส่งเสริมการลงทุนใน “กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ” เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) โดยปลดล็อกอุปสรรค เช่น เรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของศิลปินและทีมงานต่างชาติ เรื่องภาระภาษีของอุปกรณ์จัดการแสดงที่อาจนำเข้ามาใช้เพียงชั่วคราวแล้วส่งกลับออกไป เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงานระดับโลกให้เข้ามาจัดงานแสดงในประเทศไทยง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมคอนเสิร์ต งานเทศกาลนานาชาติต่างๆ จะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
“หลักเกณฑ์การขอรับการส่งเสริมต้องเป็นงานมหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการจัดงานไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่องานจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดงาน พร้อมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับศิลปินและบุคลากรต่างชาติที่เข้ามาจัดงาน ผ่านศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน หรือ One Stop Service ที่บีโอไอดำเนินการร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงแรงงาน”
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุง “กิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็ก ทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB)” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรระบบอัตโนมัติและดิจิทัล เพื่อรองรับกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากแรงกดดันของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างอิเล็ก ทรอนิกส์ โดยเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของ PCB โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี
สำหรับแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) เป็นแผงวงจรที่รวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (Chip) เข้าด้วยกัน เพื่อเชื่อมการทำงานของชิ้นส่วนและควบคุมระบบต่างๆ ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ทุกชนิด ถือเป็นขั้นตอนการผลิตที่มีความสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมามีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB แล้ว 40 บริษัท โดยเฉพาะจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น โดยปีที่ผ่านมามีมูลค่าลงทุนรวมกัน 100,000 ล้านบาท
“การปรับปรุงกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PCB ครั้งนี้ มุ่งรองรับกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนครั้งใหญ่ของโลก โดยเพิ่มเติมการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB ให้ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เพื่อไปสู่การสร้าง PCB ให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในไทย ปัจจุบันไทยได้ขึ้นมาเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน หากสามารถช่วงชิงโอกาสในการสร้างซัพพลายเชนของการผลิต PCB ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลกได้”
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศ ไทยมีบริษัทชั้นนำที่ติด TOP 20 ของโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม PCB แล้ว 10 บริษัท ยังเหลืออีก 10 บริษัทที่เหลือที่ต้องดึงเข้ามาให้ได้ในเร็วๆนี้ โดยหลักๆจะเป็นบริษัทของจีน และไต้หวัน รวมทั้งญี่ปุ่นบางส่วน ซึ่งมีเงินลงทุนอย่างน้อยแหล่งละเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะยังช่วยดึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ PCB รายย่อยๆ เข้ามาอีกหลายบริษัท.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่