ท่ามกลางความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน สภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ล่าสุด PwC ประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจ พบผู้บริหาร (ซีอีโอ) ในประเทศไทย จำนวนมากถึง 67% แสดงความกังวลเกี่ยวกับความอยู่รอดขององค์กรในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ทั้งนี้ ซีอีโอไทย ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในแนวโน้มรายได้ของบริษัทในปี 2567 ว่าจะสามารถเติบโตได้กว่าปีก่อน แม้จะมองว่าเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัวก็ตาม
พิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า มุมมองของซีอีโอต่อเศรษฐกิจโลกยังคงมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยซีอีโอไทยกว่า 67% ไม่คิดว่าธุรกิจของพวกเขาจะสามารถอยู่รอดได้ในเชิงเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปบนเส้นทางปัจจุบัน หลังเจอแรงกดดันจากกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ และการเข้ามาของเทคโนโลยี Gen AI และมีเพียง 27% เท่านั้น ที่มั่นใจว่ารายได้ของบริษัทของตนในปี 2567 จะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง (52%) ที่ถูกสำรวจเชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้จะเติบโตกว่าปีก่อน จากแนวโน้มการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัว เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวภายหลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง
โดยอัตราเงินเฟ้อ ความเสี่ยงทางไซเบอร์ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญสามอันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ปี 2567 และอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม
“แม้ซีอีโอไทยมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะเติบโตได้ในปีนี้ แต่พวกเขาก็กลับไม่มั่นใจว่า รายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจ สินค้า และบริการเพื่อแสวงหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ท่ามกลางภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา" พิสิฐ กล่าว
นอกจากนี้ ซีอีโอไทยกว่า 73% ยังกล่าวว่า การขาดความสามารถด้านเทคโนโลยี ถือเป็นอุปสรรคอันดับแรกที่จะส่งผลต่อการพลิกโฉมองค์กร (ในระดับปานกลาง มาก หรือมากที่สุด) ตามมาด้วยสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ การลำดับความสำคัญของการปฏิบัติงานที่แข่งขันกัน และพนักงานขาดทักษะความสามารถที่ 57% เท่ากัน
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมาซีอีโอไทยได้เร่งดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับซีอีโอทั่วโลกและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่แม้ว่า 79% ของซีอีโอไทยจะกล่าวว่า ตนกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่มีแผนที่จะดำเนินการ
พิสิฐ ทางธนกุล ชี้ว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อเริ่มต้นสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และมองว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในด้านต่างๆ ทั้งนี้แนะนำแนวทางในการปรับตัวให้แก่ซีอีโอ 4 แนวทาง ได้แก่
1.จัดลำดับความสำคัญของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และเสริมศักยภาพให้กับองค์กร โดยกำหนดแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงจัดสรรเวลาและความพยายามในการจัดการเพื่อสร้างแผนงานการปรับเปลี่ยนธุรกิจที่มีความยืดหยุ่น และพิจารณาแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อรับมือความท้าทายด้านต่างๆ
2.ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการความเสี่ยง โดยซีอีโอไทยควรใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับความสามารถด้านข้อมูล การวิเคราะห์ขั้นสูง และข้อมูลเชิงลึก เพื่อระบุและ จัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.ขยายขอบเขตภารกิจด้านสภาพภูมิอากาศ โดยซีอีโอไทยต้องแน่ใจได้ว่าประเด็นเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ถูกฝังลึกอยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขององค์กร ซึ่งรวมถึงการจัดการพอร์ตโฟลิโอ โครงสร้างทางธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อเข้ามาช่วยจัดสรรทรัพยากรสำหรับโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศ
4.ผนวกการใช้ AI เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร ซีอีโอไทยควรต้องพิจารณานำกรอบ 'การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ' มาผนวกเข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจ และสร้างความร่วมมือภายในองค์กร เพื่อเข้าใจว่าพนักงานของตนจะต้องพัฒนาทักษะใน ด้านใดควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของ AI
อ่านข่าวเศรษฐกิจ และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้