นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.)
ดังนั้นจากนี้ไป กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีดังกล่าวผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8-22 มี.ค. โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวน 147 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ.เสนอรวม 61 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 50 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 36 ความเห็น
ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง กกพ. จึงขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกัน ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า ในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้าแอลเอ็นจี ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้า และยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เตรียมของบประมาณจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเบื้องต้นอาจเป็นงบกลาง เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือน หรือกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คิดเป็น 75% ของจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า คาดว่าใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิม 3.99 บาทต่อหน่วย เชื่อว่าจะทันกับบิลในค่าไฟเดือน พ.ค.นี้ เพราะยังมีเวลาของบ ครม.อีก 1 เดือน ขณะที่แนวโน้มค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายปลายปีนี้ คือเดือน ก.ย.-ธ.ค. มีแนวโน้มอยู่ในระดับเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย หากราคาก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจี) ราคาเฉลี่ยอยู่ในระดับปัจจุบัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมานายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ค่าไฟฟ้า งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ควรทบทวนให้ลดลงอีก หรือในอัตรา 4-4.10 บาทต่อหน่วย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในช่วงที่อากาศร้อน และประชาชนต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากขึ้น และควรเร่งนโยบายเชิงรุก ตามที่หลายภาคส่วนเสนอแนะมาอย่างสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรม เช่น เร่งส่งเสริมโซลาร์เสรี และโซลาร์ประชาชน ปลดล็อกใบอนุญาต โรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) ที่ไม่ใช่ดำเนินการเฉพาะในเรื่องโซลาร์ รูฟท็อป ที่เกิน 1 เมกะวัตต์ แต่ควรรวมถึงโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์โฟทติ้ง รวมทั้งไม่ควรพึ่งพิงโชคชะตา จากราคาพลังงานโลกที่ลดลง โดยไม่เร่งสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ.