คลังชง 7 แบงก์รัฐลดดอกเบี้ย กดดัน กนง.-ธ.พาณิชย์ลดตาม! หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังชง 7 แบงก์รัฐลดดอกเบี้ย กดดัน กนง.-ธ.พาณิชย์ลดตาม! หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

Date Time: 23 มี.ค. 2567 05:03 น.

Summary

  • คลัง ชง ครม.เคาะมาตรการการเงิน ให้แบงก์รัฐลดและตรึงดอกเบี้ย ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณแบงก์พาณิชย์ต้องลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าด้วย หวังประชุม กนง.วันที่ 10 เม.ย.นี้ จะลดดอกเบี้ยนโยบายประคองเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

Latest

รู้จัก “หวย N3” คู่แข่งหวยใต้ดิน ความหวังใหม่รัฐบาล  ต้อนเงินเข้าระบบ 1 แสนล้านบาท เริ่มขาย 17 ต.ค

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าการประชุม ครม. วันที่ 26 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการการเงินให้ ครม.เห็นชอบ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยให้สถาบันการเงินรัฐ 7 แห่ง นำร่องลดดอกเบี้ยและตรึงดอกเบี้ยให้กับประชาชน

ส่วนมาตรการที่เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา ได้แก่ 1.สินเชื่ออิกไนท์ ไทยแลนด์ (IGNITE THAILAND) ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน สนับสนุนเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการแพทย์และศูนย์กลางอาหาร 2.โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่กว่า 13 ล้านคน โดยออมสินได้เตรียมวงเงินให้ผู้มีสิทธิดังกล่าวเข้าถึงสินเชื่อเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ 3.สินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.สินเชื่อที่อยู่อาศัย จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 5.สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการส่งออกจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ “การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยลูกหนี้ครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณไปถึงธนาคารพาณิชย์ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ทั้งการลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระประชาชนเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งการลดดอกเบี้ย 0.25% จะช่วยสนับสนุนการบริโภคเพิ่มขึ้น 0.15% และทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.16%”

นายพรชัยกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในอัตราชะลอตัว ซึ่งปี 67 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.8% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาพลังงานที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ถือเป็นการบ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทำให้มีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้น ขณะที่ศักยภาพในการหารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น กระทบขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคากระทบการส่งออก และกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจที่ผ่านมาแบงก์รัฐได้ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนไปกว่า 400,000 ล้านบาท และยังเดินหน้าช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล

“การช่วยเหลือประชาชนและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจนี้ นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการเงินทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ”

นายพรชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเริ่มเห็นสัญญาณหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) มี แนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสถาบันการเงินรัฐที่ดูแลด้านที่อยู่อาศัยและเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7% ส่วน SM ของแบงก์รัฐทั้งหมดอยู่ที่ 5% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้คาดหวังว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เม.ย.นี้ กนง.จะพิจารณารอบด้านและปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จาก 2.50% ลง เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค และกระตุ้นการลงทุนในประเทศให้เกิดขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เดือน เม.ย.นี้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 จะมีผลบังคับใช้ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังได้เตรียมพร้อมทั้งระบบการเบิกเงินของกรมบัญชีกลาง การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ สามารถเบิกจ่ายได้ทันที เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขยายเวลาการนำเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจจาก 0.25% ต่อปี เหลือ 0.125% ออกไปอีก 1 ปี ดังนั้นสถาบันการเงินรัฐ ต้องออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มฐานรากลูกหนี้นอกระบบ ทั้งลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับงวดการผ่อนและวงเงินชำระให้สอดคล้องกับลูกหนี้ โดยการช่วยเหลือลูกหนี้จะต้องมากกว่าหรือเท่ากับเงินนำส่งเข้ากองทุนฯที่ลดลง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ