คลังระดม “แบงก์รัฐ” ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดภาระประชาชน-SMEs กดดัน กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คลังระดม “แบงก์รัฐ” ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดภาระประชาชน-SMEs กดดัน กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25%

Date Time: 22 มี.ค. 2567 19:23 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • คลัง ผนึกกำลังแบงก์รัฐ ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดภาระหนี้ประชาชน-เอสเอ็มอี เตรียมเสนอ 5 โครงการสินเชื่อ ให้ ครม. พิจารณาต้นเดือนเมษายน ส่งสัญญาณกดดัน กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25%

Latest


พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันยังเติบโตในอัตราชะลอตัวซึ่งคาดการณ์ว่า ปี 2567 เศรษฐกิจจะเติบโต 2.8% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 บ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ 


นอกจากนี้ สถานการณ์ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มกระทรวงการคลังจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐ ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไปผ่านโครงการ “แบงก์รัฐลดก่อน ผ่อนภาระประชาชน” 


โดยล่าสุดเตรียมเสนอ ครม.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเติม ผ่านอย่างน้อย 5 โครงการใหม่ ได้แก่

1. สินเชื่อ IGNITE THAILAND ของธนาคารออมสิน ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SME 3 กลุ่มเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ Thailand Vision ของนายกรัฐมนตรี ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ ประกอบด้วย

  • กลุ่มศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว
  • ศูนย์กลางทางการแพทย์ และสุขภาพ
  • ศูนย์กลางด้านอาหารในภูมิภาค 


2. สินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาทต่อราย โดยธนาคารออมสิน สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 10 กว่าล้านราย โดยคาดว่าสินเชื่อโครงการใหม่จะสามารถเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2567 


3. สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)


4. สินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัยของบุคลากรภาครัฐ โดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ กู้เพื่อซื้อ ปลูก สร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม รีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ 2.90% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 3.75% ต่อปี และปีที่ 3 เท่ากับ 3.90% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก เท่ากับ 3.52% ต่อปี สามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ และทำนิติกรรมภายใน 30 ธ.ค. 2567


5. สินเชื่อเอ็กซิมเริ่มต้นส่งออก เงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.75% ต่อปี (Prime Rate -1.00% ต่อปี) สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม (Size S) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกหรือนำเข้าเพื่อส่งออก วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท พร้อมกับลดดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี ในปีแรก กรณีลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK


อย่างไรก็ตาม พรชัย กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมาแบงก์รัฐทุกแห่งได้ช่วยกันตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นหลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) ลง 0.15% ต่อปี 


หรือกรณีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย เพื่อให้ลูกหนี้เดิมของ ธอส. สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ SME Refinance เพื่อลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของแบงก์รัฐ สามารถช่วยเหลือประชาชนไปแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท 


ลดดอกเบี้ย ไม่กระตุ้นคนก่อหนี้เพิ่ม


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนหากมีการลดดอกเบี้ย พรชัย กล่าวว่า เมื่อธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารกับลูกค้าไม่ได้เกิดขึ้นในทันที เนื่องจากธนาคารต้องใช้เวลาประเมินต้นทุนทางการเงิน ไม่เหมือนกับช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ธนาคารจึงต้องพร้อมใจกันปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระให้กับประชาชน ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหลักเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพ 


โดยการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยที่ชัดเจน จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ มีเวลาเตรียมตัวบริหารต้นทุนการดำเนินธุรกิจ วางแผนการขอสินเชื่อ 


ทั้งนี้การลดดอกเบี้ย 0.25% จะช่วยสนับสนุนการบริโภคเพิ่มขึ้น 0.15% และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.16% จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น


“การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงสถาบันการเงินต่างๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ” พรชัย กล่าว 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ