ดีเดย์ 1 เมษายนนี้แล้ว ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็น “หนี้เรื้อรัง” จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ย ตามมาตรการแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทยอยออกหลักเกณฑ์มาตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนที่เป็นหนี้ ได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุด และมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง
ในบทความนี้ Thairath Money ชวนมาทำความรู้จัก ว่าตามนิยามของ ธปท. แล้ว “หนี้เรื้อรัง” คืออะไร? และหนี้แบบไหนที่เข้าข่ายเป็น “หนี้เรื้อรัง” เพื่อเป็นประโยชน์ และเป็นทางออกให้กับลูกหนี้ทั้งหลาย ที่จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วภายใน 5 ปี และลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 15% ต่อปี
หนี้เรื้อรัง ครอบคลุมสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน
ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
จะเห็นได้ว่ามาตรการแก้หนี้ของ ธปท. รอบนี้ มุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และมีการจ่ายดอกเบี้ยสูงทบต้น กดยอดขั้นต่ำมาเป็นเวลานาน เช่น หนี้บัตรกดเงินสดต่างๆ แม้ว่ายังไม่เป็นหนี้เสียก็ตาม
ตามไทม์ไลน์เจ้าหนี้ จะดึงข้อมูลลูกค้าที่เข้าข่ายทั้ง 2 กลุ่ม โดยใช้ข้อมูลในเดือน ก.พ. 2567 และภายในเดือน เม.ย.นี้ หลังจากนั้นสถาบันการเงิน (เจ้าหนี้) จะมีการแจ้งเตือนลูกค้า และให้ลูกค้าซึ่งเป็นลูกหนี้อย่างเรา สมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี โดยลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อให้ปิดจบหนี้ภายใต้มาตรการ
ทั้งนี้ ลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการแจ้งเตือนเป็นรายบัญชี (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง) ผ่านช่องทางที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น จดหมาย อีเมล SMS mobile application เพื่อกระตุ้นให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสมัครเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง หากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตนเอง สามารถติดต่อสาขา หรือ call center ของผู้ให้บริการ เพื่อตรวจสอบสถานะและสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้
ที่มา : ธปท, สมาคมธนาคาร, ธนาคารกสิกรไทย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney